“ธงทอง” แถลงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นปฏิรูปประเทศ เชื่อทำโรดแมปได้ภายในเดือน ธ.ค. ด้านเลขาฯ กฤษฎีกา วันเลือกตั้งเลื่อนไม่ได้
วันนี้ (13 ธ.ค.) นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้เป็นผู้ประสานงาน ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หัวข้อ “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน” เพื่อวางแนวทางปฏิรูปประเทศแก้ปัญหาระยะยาว หลังมีการเลือกตั้ง ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.เวลา 09.00 น.ว่า การเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ คงไม่สามารถทำให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายกลับคืนสู่ปกติได้ จะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน จึงนัดทุกฝ่ายร่วมหารือหาทางออกของประเทศ โดยได้เชิญตัวแทนภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง พรรคละ 2 คน สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนองค์กรทางการเมือง ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นปช.ประมาณ 100 คน มาระดมสมอง ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายและความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เชื่อว่า จะสามารถจัดทำโรดแมป หรือแนวทางการปฏิบัติได้ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดสดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 09.00 น.จนเสร็จสิ้น หากประชาชนอยากมีส่วนร่วม สามารถแสดงความคิดเห็น ผ่านข้อความสั้นทางหมายเลข 4221559 หรือ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-276 4646
ด้าน นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ลงวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ วันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็นการกำหนดตามกรอบระยะเวลาของรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่จะต้องอยู่ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้บแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อนับวันที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งต้องไม่เกินวันที่ 6 ก.พ. 2557 ฉะนั้น แนวความคิดที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือตรา พ.ร.ฎ.ใหม่ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งให้เลื่อนออกไป จึงไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด อย่างไรก็ตามเห็นว่าเมื่อมีการตรา พ.ร.ฎ.ยุบสภาแล้ว สิ่งที่ต้องเดินหน้าคือการเลือกตั้ง แต่ด้วยปัญหาการเมืองในขณะนี้ ควรจะต้องมีการเจรจาร่วมกัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งก็ตาม