xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสั่ง หน.ส่วนราชการวางมาตรการป้องกันม็อบยึด จี้ ศอ.รส.เอาผิดแกนนำ-ผู้สนับสนุน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“สุรพงษ์” สั่งหัวหน้าส่วนราชการทุกแห่งวางมาตรการป้องกันม็อบยึด ขณะที่ รบ.สั่ง ศอ.รส.เร่งออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม พร้อมกำหนดข้อบังคับห้ามข้าราชการสนับสนุนการชุมนุม นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบหากลุ่มทุนที่สนับสนุนม็อบดำเนินคดีโดยเร็ว

วันนี้ (6 ธ.ค.) เมื่อเวลา 19.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แถลงว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำแผน และประสานงานในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินมาตรการจำเป็นเพื่อป้องกันสถานที่ราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมยึด หรือปิดล้อมได้ นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศ มีข้อมูลว่า ขณะนี้มี 37 ประเทศ ที่ได้แจ้งเตือนพลเมืองไม่ให้เดินทางเข้ามาเขตพื้นที่การชุมนุม ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง และจากกรณีที่มีกลุ่มจักรยานยนต์ซิ่ง หรือเด็กแว้นเข้าไปก่อเหตุป่วนกลุ่มผู้ชุมนุมแสดงให้เห็นว่ายังมีความพยายามของกลุ่มมือที่สามในการสร้างสถานการณ์ ซึ่งตำรวจได้เพิ่มความเข้มวงดในการตั้งด่านตรวจค้นในพื้นที่ชุมนุม จึงอยากให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

ด้านายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในหนังสือ ที่ 324/2556 เพื่อตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาฯ โดยมีนายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ โดยได้ประชุมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และมีการกำหนดประเด็นให้ ศอ.รส.ดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เร่งดำเนินการออกหมายจับแกนนำ และผู้ร่วมกันในการปิดล้อมบุกยึดสถานที่ราชการ รวมทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ของแกนนำ กปปส. รวมทั้งผู้สนับสนุน โดยได้กำหนดแผนผังให้ ศอ.รส.ดำเนินการแล้ว 2.ให้ออกคำบังคับ หรือข้อสั่งการห้ามมิให้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มผู้ชุมนุม หากพบก็ให้ดำเนินคดี และ 3.เร่งหากลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนการชุมนุมในครั้งนี้เพื่อดำเนินคดีโดยเร็ว

ด้านโฆษก ศอ.รส. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีส่วนราชการที่พบว่าเข้าไปมีส่วนสนับสนุน หรือมีส่วนกับการกระทำผิดของกลุ่มผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้แยกแยะว่า สิ่งไหนถือเป็นการสนับสนุน หรือการให้บริการประชาชน อย่างกรณีรถสุขา รถน้ำ หรือรถตัก ที่เป็นของหน่วยงานราชการจะมีการเรียกมาสอบสวนว่าเหตุใดจึงไปอยู่ในพื้นที่การชุมนุม หรือถูกใช้ในการกระทำผิด ส่วนกระทำผิดแต่ละสถานที่ก็จะมีการแยกในการดำเนินคดีออกเป็นเรื่องๆ พนักงานสอบสวนแต่ละท้องที่เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น