โฆษก ศอ.รส.ยืนยันเป่านกหวีดไล่ ผิดกฎหมายลหุโทษ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ พร้อมสรุปเหตุการณ์การชุมนุม ล่าสุดยังไม่มีการปราศรัยหรือยังไม่มีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมทั้ง 3 ม็อบ ยืนยันว่าทั้ง 3 กลุ่มมีความเชื่อมโยงกัน ด้าน นปช.เริ่มทยอยเข้าราชมังคลาฯ หัวหมาก บก.น.4 ตรึงกำลัง ตร.ตรวจดูความสงบเรียบร้อยทั่วทั้งพื้นที่ ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (20 พ.ย.) เรื่องที่มาของ ส.ว. คาดจะมีการยกระดับชุมนุม ตร.ตรวจเข้ม เน้นการดูแลสถานที่สำคัญ
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและขับไล่รัฐบาลที่ชุมนุมอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน ล่าสุดทั้ง 3 เวทียังไม่มีการปราศรัย โดยจำนวนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีจำนวน 450 คน สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 250 คน และกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ จำนวน 100 คน ส่วนกลุ่มที่เรียกว่าตัวเองว่าเป็นนักเรียนอาชีวศึกษา ได้แยกตัวไปรวมเวทีอนุสาวรีย์ฯ ยืนยันทั้ง 3 กลุ่มมีความเชื่ยมโยงกันทั้งหมด
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน มวลชนเริ่มทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ โดยมีจำนวน 1,500 คน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 โดยมี พล.ต.ต.นัยวัฒน์ เผดิมชิต ผบก.น.4 เป็น ผบ.เหตุการณ์ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ศอ.รส.ใช้มาตรฐานและแนวทางเดียวกันในการดูแลการชุมนุมทุกกลุ่ม โดยเน้นการคัดกรองบุคคล, การจราจร และการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วไว้รองรับ
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อไปว่า ในส่วนาตรการดูแลการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นอกจากเน้นดูแลพื้นที่ 2 จุด คือ การชุมนุมถนนราชดำเนิน และสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุรุนแรง ตำรวจยังต้องดูแลบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้จัดส่งกำลังไปดูแลตั้งแต่วันนี้ นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมอีกจุด คือ การชุมนุมของกลุ่มแพทย์ชนบท ที่นัดชุมนุมด้านหน้าบ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
โฆษก ศอ.รส.ยังได้กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการเป่านกหวีดใส่กลุ่มบุคคลว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ จึงอยากฝากเตือนว่าแม้การเป่านกหวีดจะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ แต่ต้องไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น มิฉะนั้นหากมีการแจ้งความร้องทุกข์ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดเข้าแจ้งความว่าถูกเป่านกหวีดใส่แต่อย่างใด