ตำรวจญี่ปุ่นห่วง กม.นิรโทษกรรมกระทบคดี “ฮิโรยูกิ มูราโมโต้” ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หน้า ร.ร.สตรีวิทยา เมื่อปี 53
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายโนบุยูกิ คะวะอิ ผู้บัญชาการและผู้อำนวยการปฏิบัตการสืบสวนระหว่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยตำรวจญี่ปุ่นเข้าพบ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.บรรฑูรย์ ฉิมกรา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (9) ดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการสอบสวนคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ (Hiroyuki Muramoto) สัญชาติญี่ปุ่น ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ ใกล้สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากการชุมนุม นปช. โดยขณะนี้คดีอยู่ในการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของศาล
พ.ต.ท.บรรฑูรย์ ฉิมกรา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (9) ดีเอสไอ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ หลังเคยมาสอบถามแล้ว 7 ครั้ง ดีเอสไอให้ได้เพียงบางส่วน พร้อมยืนยันว่าดีเอสไอได้สอบปากคำพยานทุกอาทิตย์ๆ ละ 20 คน รวมทั้งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อยได้หลายร้อยคนแล้วส่วนใหญ่ให้การสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าได้รับคำสั่งลงมาเป็นชั้นๆ ในการปฏิบัติแต่ละวัน ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทหารผู้น้อยกลุ่มที่สอบปากคำแล้วในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจะไม่มีอาวุธติดตัว ซึ่งกลุ่มที่มีอาวุธประจำกายอยู่ระหว่างติดต่อมาสอบปากคำ ทั้งนี้ ทางตำรวจญี่ปุ่นคาดหวังว่าอยากให้ดีเอสไอสอบสวนว่าใครเป็นผู้ยิงนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ดีเอสไอก็รับปากจะดำเนินการให้ ซึ่งการนัดเข้าขอทราบความคืบหน้าครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (9) ดีเอสไอ กล่าวอีกว่า คดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ขณะนี้คดีชันสูตรหาสาเหตุการตายอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาล ซึ่งยังเหลือปากคำพยาน 10 ปาก นอกจากนี้ ทางตำรวจญี่ปุ่นได้สอบถามถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าจะมีผลอย่างไร เราชี้แจงว่ายังอยู่ในการพิจารณาของสภาฯ ยังตอบอะไรไม่ได้ ต้องรอให้กฎหมายออกมาก่อนซึ่งทางตำรวจญี่ปุ่นก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไร ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลตลอดคดีก็มีความคืบหน้าทำไมทางตำรวจญี่ปุ่นจึงมาสอบถามความคืบหน้า พ.ต.ท.บรรฑูรย์กล่าวว่า ระบบกฎหมายญี่ปุ่นกับไทยไม่ได้เหมือนกัน ของดีเอสไอจะดำเนินการสั่งคดีได้ต้องรอคำสั่งศาลก่อนในคดีชันสูตรพลิกศพ