ศาลอาญานัดฟังคำสั่งไต่สวนอัยการยื่นถอนประกัน ไทกร-พิเชฐ-สมบูรณ์ ขึ้นเวทีปราศรัยม็อบ ต้านทักษิณ-พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผิดเงื่อนไขปล่อยชั่วคราว หรือไม่ 16 ต.ค.นี้
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้อง ที่นายสุรศักดิ์ ปรานศิลป์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้ยื่นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ขอให้ศาลออกหมายเรียกนายพิเชฐ พัฒนโชติ คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.), นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.และนายไทกร พลสุวรรณ คณะเสนาธิการร่วม กปท.จำเลยที่ 20, 21 และ 25 คดีร่วมกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก่อการร้ายปิดล้อมสนนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณ ปี 2551 เพื่อพิจารณาว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์ กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลหรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 4-5 ส.ค. 2556 นายไทกร, นายพิเชฐ และนายสมบูรณ์ แกนนำ กปท.ได้จัดให้มีการชุมนุม และขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 และพื้นที่บางส่วนภายในบริเวณสวนลุมพินี โดยโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง รวมทั้งการคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำนองว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบทักษิณ มุ่งแต่คอร์รัปชัน คิดแต่ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้รอดคดี โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม
โดยวันนี้อัยการได้นำ พ.ต.ท.อัครวัฒน์ พุ่มไพศาลชัย รอง ผกก.สืบสวน สน.ลุมพินี พ.ต.ท. สมศักดิ์ หวังดี พนักงานสอบสวน สังกัด บก.น.1 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี เข้าเบิกความ รวม 3 นาย
พ.ต.ท.อัครวัฒน์ เบิกความว่า ภายหลังรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในเขตพื้นที่คือ เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนด 10 วัน ในระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 และแต่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) โดยมี พล.ต.อ.อดุล แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.เป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) เพื่อที่จะดูแลการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภา โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2556 เวลาประมาณ 13.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ได้นำรถบรรทุก 6 ล้อ ไปตั้งเป็นเวทีปราศรัยที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หันด้านหน้าเวทีไปทางด้านสวนลุมพินี ซึ่งขณะนั้นตนรับมอบหมายให้ควบคุมดูแลพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ( กปท.) ซึ่งการปราศรัยในวันที่ 4-5 ส.ค.2556 มี นายพิเชฐ, นายสมบูรณ์ และ นายไทกร จำเลยที่ 20, 21 และ 25 ในคดีปิดล้อมสนามบิน ขึ้นเวทีปราศรัยด้วย และจากการตรวจสอบพบว่าทั้งสาม ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาล โดยมีเงื่อนไขห้ามยุยงปลุกปั่นหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยการชุมนุมดำเนินเรื่อยมา และการชุมนุมในวันที่ 4-5 ส.ค.มีการชักชวนให้ประชาชนไปชุมนุมปิดล้อมที่รัฐสภาเพื่อ โค่นล้มระบอบทักษิณ และวันที่ 5 ส.ค.2556 เวลา 11.00 น.ทาง ผอ.สวนลุมพินี ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ ที่ สน.ลุมพินี ว่า โซ่คล้องประตูเหล็ก ฝั่งประตู 4 ของสวนลุมพินีถูกทำลาย โดยไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของบุคคลใด และผู้ชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ภายในสวนลุมพินี
พ.ต.ท.สมศักดิ์ หวังดี พนักงานสอบสวน สังกัด บก.น.1 เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ทำการวิเคราะห์คำเทปการปราศรัย ของผู้ชุมนุม รวมทั้ง นายไทกร, นายพิเชฐ และนายสมบูรณ์ ที่ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.2556 ด้วย ซึ่งนอกจากวิเคราะห์จากคำถอดเทปคำปราศรัยแล้ว ตนจะวิเคราะห์จากพฤติการณ์ และการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน โดย นายไทกร พูดทำนองยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแกนนำ คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งดูได้จากการเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วน นายพิเชฐ จะปราศรัยทำนองยอมรับว่าเป็นแกนนำ คณะเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ซึ่งตนวิเคราะห์จากข้อมูลของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และประกาศชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยกันโค่นล้มระบอบทักษิณ ขณะที่ นายสมบูรณ์ นั้น เป็นผู้ปราศรัยบนเวที และพูดทำนองยอมรับว่าอยู่ระหว่างปล่อยชั่วคราว โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวาย แต่ยังยืนยันจะใช้สิทธิการชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัย ซึ่งภายหลังวิเคราะห์คำถอดเทปการปราศรัยแล้วก็จะ รายงานให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเสนอให้อธิบดีอัยการ ยื่นขอให้ศาลไต่สวนว่าเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวหรือไม่
และตอบข้อซักค้านของทนายความผู้คัดค้าน ว่า ตนไม่ได้นำเอกสารที่จำเลยทั้งสาม เคยไปยื่นต่อ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชน มาประกอบด้วย และการวิเคราะห์คำถอดเทปคำปราศรัยนั้น ตนไม่ได้ตรวจสอบว่า พนักงานสอบสวนถอดเทปมาถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ อาจมีบางข้อความที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้ความหมายผิดได้ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์นั้นเห็นว่า จำเลยทั้งสามปราศรัยประกาศชักชวนให้ประชาชนร่วมโค่นล้มระบอบทักษิณ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยอาจใช้วิธีการที่ชอบหรือไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี ที่ทำหน้าที่ ควบคุมการบันทึกภาพเคลื่อนไหว การปราศรัยบนเวที ที่ บริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค.2556 ได้เบิกความว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการเรื่อง บันทึกภาพวิดีโอ ของผู้ปราศรัยบนเวทีดังกล่าว ซึ่งตนได้บันทึกภาพขณะจำเลยทั้งสามปราศรัยไว้ทั้งหมด ก่อนนำไปก็อบปี้เป็นแผ่นวีซีดี ส่งให้พนักงานดำเนินการถอดเทปคำปราศรัยต่อไป และได้ตอบคำซักค้านของทนายผู้คัดค้าน ว่า ในการทำหน้าที่ควบคุมการบันทึกคำปราศรัยนั้นเหตุการณ์ในการชุมนุมเป็นปกติ คนทั่วไปสามารถเข้าใช้สวนลุมพีนีได้ และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ
จากนั้นศาลได้แถลงให้ นายพิเชฐ, นายสมบูรณ์ และนายไทกร ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 20, 21 และ 25 ในคดีปิดล้อมสนามบิน ทราบว่าข้อเท็จจริงทั้งเอกสารและการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องนั้น เพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้วซึ่งทั้งสามได้แถลงชี้แจงต่อศาลว่า การปราศรัยว่าโค่นระบอบทักษิณ นั้น เป็นอธิบายคำว่าระบอบทักษิณ ตามที่ศาลได้เคยมีคำพิพากษาเอาไว้แล้ว และการชุมนุมเป็นไปโดยสุจริต เป็นการใช้สิทธิชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ที่กำหนดว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิชุมนุมได้โดยสงบ เปิดเผยและปราศจากอาวุธ และไม่ได้มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ศาลได้อนุญาตให้ผู้คัดค้านทั้งสาม ส่งคำเอกสารคำแถลงได้ภายในวันที่ 14 ต.ค.นี้ และนัดฟังคำสั่งการไต่สวน ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ก่อนเข้าฟังการไต่สวน นายไทกร กล่าวยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งได้นำหลักฐานเป็นเอกสารและซีดีบันทึกเหตุการณ์ชุมนุมมามอบให้ศาลด้วย ส่วนสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปท.ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล นั้นส่วนตัวคาดว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรับคำสั่งจากรัฐบาล ตัดน้ำและอาหาร ที่จะส่งเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เห็นว่าขั้นตอนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มิชอบโดยกฏหมาย เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ได้กีดขวางทางสาธารณะแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่นำแผงเหล็กมากั้น เป็นเหตุให้ทางสาธารณะติดขัด และทราบว่า ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของ กปท.จะยื่นฟ้องดำเนินคดี กับคณะรัฐมนตรีที่ออก พ.ร.บ.มั่นคง ดังกล่าวต่อศาลปกครอง รวมถึงดำเนินคดีแพ่งด้วย