xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกคำร้องญาติ 78 ศพตากใบ ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลสงขลา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายปรีดา นาคผิว ทนายความญาติผู้ตายเหตุสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ เดินทางมาฟังคำสั่งศาลฎีกา
ศาลฎีกายกคำร้องญาติผู้ตาย 78 ศพ เหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพของศาลสงขลาที่เห็นว่าไม่ครบถ้วน ชี้ศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา

วันนี้ (1 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำที่ ษ.43/2552 ที่น.ส.มัสตะ เจะอูมา และญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวม 34 ราย เมื่อปี 2547 ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2552 ซึ่งระบุเหตุและพฤติกรรมการตายในการชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้ง 78 ศพ เพียงว่าขาดอากาศหายใจ โดยไม่ได้มีการระบุถึงการขนย้ายผู้ชุมนุม และจับผู้ร่วมชุมนุมมัดมือไพล่หลัง ให้นอนคว่ำหน้าและทับซ้อนกันมาบนท้ายรถบรรทุก ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี กระทั่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งญาติผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เรื่องการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ที่ระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน พฤติกรรมการตายเป็นอย่างไร

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2552 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจรับสำนวนไว้พิจารณา หากจะมีการยื่นคัดค้านต้องยื่นศาลจังหวัดสงขลา ต่อมาญาติได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ญาติจึงได้ยื่นฎีกา

โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า การที่คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้กล่าวอ้างถึงการขนย้ายที่ให้ผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้า เอามือไขว้หลังและมีการทับซ้อนกันบนรถ ซึ่งน่าจะเป็นพฤติการณ์การตายและไม่ระบุว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงการกระทำที่น่าจะไม่ถูกต้องของศาลชั้นต้น ซึ่งหากจะมีการกล่าวอ้างเพื่อขอให้เพิกถอนหรือคัดค้านจะต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้น ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น น.ส.มัสตะ กับพวก 34 คน จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีขึ้นใหม่ ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งยกคำร้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ด้านนายปรีดา นาคผิว ทนายความ กล่าวว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา ในเรื่องคำสั่งไต่สวนชันสูตรศพก็ถือเป็นที่ยุติแล้ว และที่ศาลฎีกาชี้ช่องว่าให้ญาติยื่นคัดค้านต่อศาลสงขลาได้โดยตรงนั้น เมื่อพิจารณาแล้วกฎหมายได้ระบุว่า หากญาติไม่พอใจคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา จะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลสงขลาภายใน 8 วัน นับจากวันมีคำสั่ง ซึ่งถือว่าหมดอายุความตามกฎหมายไปแล้ว ส่วนที่ขณะนั้นทางญาติตัดสินใจที่จะมายื่นคำร้องต่อศาลอาญาซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีได้ทั่วประเทศนั้น เพราะไม่ประสงค์ที่จะร้องกับศาลจังหวัดสงขลา เพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งของตัวเอง

เมื่อถามว่าทางญาติได้ดำเนินการฟ้องร้องหรือเอาผิดทางอาญากับใครบ้าง นายปรีดากล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าญาติของผู้ตาย ได้ไปแจ้งความหรือดำเนินการช่องทางอื่นอีกหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบทางญาติเคยไปร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาแทนประชาชนได้ แต่ไม่ทราบว่าขณะนี้ได้มีการดำเนินการไปอย่างไรบ้าง ซึ่งจะติดตามเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น