ผบ.ตร.สั่งคุมเข้มช่วงเปิดเทอม หวั่นนักเรียนนักศึกษาเจอเพื่อนใหม่ร้อนวิชาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ย้ำ ผู้บังคับบัญชา ตร.ทุกนายหาก ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่รับผิดชอบตามสมควรแก่กรณี
วันนี้(14 พ.ค.)ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง มาตรการดูแลนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทว่า เรื่องนี้ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิวแก้ว ผบ.ตร.มีความห่วงใยภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยพื้นที่เกิดเหตุเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทบ่อย เช่น 1.พื้นที่ทิศเหนือคันนายาว ดอนเมือง เชื่อมต่อลำลูกกา ปทุมธานี 2.ทิศใต้มีนบุรี บางนา เชื่อมต่อสำโรง บางพลี จ.สมุทรปราการ 3.และพื้นที่บางแค ภาษีเจริญ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เก็บช้อมูล 10 กว่าสถาบันที่เกิดเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทบ่อย พร้อมกับตั้งนายตำรวจประสานสถาบันเหล่านั้นโดยตรง ส่วนสายรถเมล์ที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทบ่อย ได้แก่ รถเมล์ร้อนสาย 2 , 8 , 33 , 39 , 90 ซึ่งห้วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ ตั้งแต่เวลา 15.00 - 19.00 น.วันจันทร์ - ศุกร์ และวันเสาร์ประปราย โดยจะเกิดเหตุช่วงเดือนแรกของการเทอมตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ค.ที่จะมีสถิติการทะเลาะวิวาทสูงสุด เนื่องจากเป็นช่วงที่นักเรียนนักศึกษาได้รู้จักเพื่อนใหม่ และร้อนวิชาต้องการแสดงกำลัง และสถิติการทะเลาะวิวาทจะลดลงในช่วงปิดเทอมเดือน ก.ย. - ต.ค.
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทาง ตร.ขอเสนอข้อแนะนำประชาชนในการใช้บริการรถเมล์ที่เสี่ยงจะเกิดเหตุนักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาท ประกอบด้วย 1.หลีกเลี่ยงการนั่งบริเวณประตูด้านหลัง เพราะส่วนใหญ่พบว่า การก่อเหตุของนักเรียนจะอยู่ที่บริเวณที่นั่งด้านหลังของรถเมล์ 2.ไม่ควรนั่งบริเวณข้างหน้าต่างด้านซ้ายของรถเมล์ เนื่องจากระหว่างเกิดเหตุ มักจะมีการขว้างปาสิ่งของเข้ามาอยู่เป็นประจำ 3.ขอแนะนำให้มีการระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรใส่หูฟังระหว่างนั่งรถเมล์ เพราะจะทำให้ไม่มีสมาธิสังเกตสถานการณ์รอบข้าง 4.ระหว่างใช้บริการรถเมล์ ขอให้สัวเกตกลุ่มนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุทะเลาะวิวาท และหากไม่มีธุระเร่งด่วน ขอแนะนำให้ลงจากรถเมล์คันดังกล่าว เพื่อรอไปขึ้นรถเมล์คันต่อไป หรือเปลี่ยนไปใช้สถานีขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น อย่างรถไฟฟ้า 5.ขณะเกิดเหตุขอแนะนำให้ประชาขนโน้มตัวตัวลงต่ำกว่าหน้าต่างรถเมล์ นอกจากนี้ทาง ตร.ได้ประสานไปยัง กทม.เพื่อติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงที่เกิดเหตุทะเลาะบ่อย เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน พร้อมประสานไปยัง รปภ.ของห้างสรรพสินค้าให้จับตากลุ่มเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทให้แจ้งเตือนทันที รวมถึงจะมีการประสานให้สารวัตรนักเรียนไปขึ้นรถเมล์ที่มีสถิติสุ่มเสี่ยงที่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทบ่อย
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ผบ.ตร.จึงกำชับผู้บังคับบัญชาในทุกท้องที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาท ดังนี้ 1.ให้ ผบก.น. , ผบก.ภ.จว.มอบหมายรอง ผบก.ทุกนายรับผิดชอบสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามที่ ตร.สั่งการ พิจารณาจัดกำลังจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) หรือหน่วยปฎิบัติการสนับสนุนตามความเหมาะสม 2.ให้ ผบช.น. , ผบช.ภ.1 , ผบช.ภ.7 มอบหมายรอง ผบช.ทุกนาย รับผิดชอบสถานศึกษาทุกแห่งใน บก.น. , บก.ภ.จว.ในพื้นที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่ออำนวยการกำกับดูแลให้คำแนะนำ และตรวจสอบการปฎิบัติให้เป็นไปตามสั่งการ ตร.โดยเคร่งครัด 3.ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ จัดทำฐานข้อมูลบุคคล สถานที่ นักศึกษาที่เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ไว้เป็นหลักฐาน และรายงานผลการดำเนินการให้ บก.น. , บก.ภ.จว.ทราบ เพื่อสรุปในภาพรวมรายงาน บช.น. , บช.ภ.จว. 4.ให้โฆษก บช. , ภ.จว.ประชาสัมพันธ์การปฎิบัติให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตร.ได้กำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการปฎิบัติของหน่วยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1.ให้จเรตำรวจตรวจสอบเอกสารหลักฐานข้อมูลทุกครั้งที่ไปตรวจราชการ และรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ 2.ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ตร.สายงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ควบคุม กำกับ ดูแลอย่างจริงจัง 3.หากพบข้อบกพร่อง ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่ ในการดำเนินการตามมาตรการแนวทางที่กำหนดจนเกิดความเสียหาย ตร. จะพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบตามสมควรแก่กรณี