ตร.จับหนุ่มใหญ่ฉีกบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หน่วยเลือกตั้งที่ 13 ย่านบางคอแหลม เจ้าตัวระบุไม่เจตนา เข้าใจผิดว่าต้องฉีกบัตรเป็น 2 ใบเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ด้านโฆษก บช.น.เผยได้แจ้งข้อหาทำลายเอกสารการเลือกตั้ง แต่หากไม่มีเจตนา พนักงานสอบสวนอาจสั่งไม่ฟ้อง
วันนี้ (3 มี.ค.) พ.ต.ท.สฤษดิ์ สิทธิ์นะศรี พนักงานสอบสวน สน.วัดพระยาไกร รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ควบคุมหน่วยเลือกตั้งที่ 13 ซอยมาตานุสรณ์ แขวงและเขตบางคอแหลม กทม. ว่ามีชายฉีกบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมควบคุมตัวผู้กระทำผิดมาสอบสวนที่ สน.วัดพระยาไกร
จากการสอบสวนทราบชื่อผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ นายสมเดช เทียนสุวรรณ อายุ 59 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่บ้านเลขที่ 35 ซ.มไหสวรรย์ 4 แขวงและเขตบางคอแหลม กทม. พร้อมของกลางบัตรเลือกตั้งที่กากบาทแล้ว สภาพถูกฉีกขาดครึ่งกลางจากด้านบนลงมาด้านล่าง แยกออกเป็น 2 ท่อน
นายสมเดชให้การว่า ตนมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยดังกล่าวตั้งแต่เวลา 09.00 น. และหลังจากที่ได้กาเบอร์ที่ตนชอบเรียบร้อยแล้วจึงได้ฉีกบัตรเลือกตั้งออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากเข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว ที่ต้องกาตัวบุคคล และกาพรรคการเมือง ตนจึงได้ฉีกบัตรดังกล่าวออกเป็น 2 ใบ เพื่อจะเอาไปหย่อนลงในหีบบัตร แต่จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็ได้เข้ามาบอกว่าตนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และถูกตำรวจควบคุมตัวมาสอบสวนที่ สน.วัดพระยาไกร ซึ่งตนทำไปเพราะความเข้าใจผิดและไม่ได้มีเจตนา เนื่องจากบริเวณที่หน่วยเลือกตั้งไม่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยมาอธิบายขั้นตอนการใช้สิทธิลงคะแนน อีกทั้งยังไม่มีป้ายอธิบายเรื่องการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วย ทำให้ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ยืนยันไม่มีเจตนาที่จะฉีกบัตรเพราะมีโทษถึงติดคุก หากรู้ว่าผิดกฎหมายก็คงไม่ทำแน่นอน
ด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า จากการสอบสวนนายสมเดชเบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดและไม่มีเจตนาที่จะฉีกบัตรเลือกตั้ง โดยนายสมเดชคิดว่าเหมือนเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ต้องเลือกตัวบุคคลและพรรคการเมือง และต้องฉีกบัตรออกเป็น 2 ใบ อย่างไรก็ตามจะให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้ต้องหาอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความชัดเจน ถ้าหากพบว่าเข้าข่ายกระทำผิดก็อาจจะส่งฟ้อง แต่หากพบว่าไม่เข้าองค์ประกอบก็อาจจะสั่งไม่ฟ้อง ก่อนจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือทำให้บัตรเสียหรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้งที่ใช้ได้ ตามมาตรา 123 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
อย่างไรก็ตามจะให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำผู้ต้องหาอย่างละเอียดอีกครั้ง หากเข้าข่ายกระทำผิดก็อาจจะส่งฟ้อง แต่ถ้าพบว่าไม่เข้าองค์ประกอบก็อาจจะสั่งไม่ฟ้อง ก่อนจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป