xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีศาลอาญา แจง"มาร์ค-เทพเทือก"ไม่ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหา ก็มีผลตามกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงข้อกฎหมาย แม้ "มาร์ค-เทพเทือก" ไม่ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหา-เงื่อนไขประกันตัวก็ไม่มีผล หากเข้าให้ปากคำ ถือว่ารับทราบข้อกล่าวหาโดยชอบแล้ว

วันนี้ (14 ธ.ค.) นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณี พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ แจ้งข้อกล่าวหาต่อ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มนปช.เมื่อปี 2553 ว่า ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนดีเอสไอมีอำนาจที่จะให้ประกันตัวได้ หรือถ้าหากไม่ให้ประกันและไม่อยากควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ ก็สามารถส่งมาฝากขังศาลต่อได้ แต่เมื่อฝากขังแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องเร่งทำสำนวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อส่งพนักงานอัยการสั่งฟ้องโดยเร็ว เนื่องจากตาม ประมวลกฎหมายอาญา คดีร้ายแรงที่มีโทษสูง จะสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้เป็นเวลา 7 ผลัด ๆ ละ 12 วัน รวม 84 วัน ถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาที่อยู่ในความควบคุมของศาลออกไปก่อน แล้วค่อยตามตัวมายื่นฟ้องภายหลัง ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคงไม่อยากถูกจำกัดเรื่องเวลาในการทำสำนวน หรืออาจจะมีพยานอีกจำนวนมากที่จะต้องสอบสวน ประกอบสำนวน การให้ประกันจะทำให้มีความยืดหยุ่นในการทำสำนวนมากขึ้น

ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ไม่ยอมรับเงื่อนไขประกันตัว 4 ข้อ ของดีเอสไอ ว่า ถ้าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ต้องหาแล้ว ไม่ว่าผู้ต้องหาจะให้การอย่างไร อ้างไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว จะให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ถ้าผู้ต้องหาไม่ลงลายมือชื่อ ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่พนักงานสอบสวนก็จะลงบันทึกต่อท้ายเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อแล้ว แต่ผู้ต้องหาไม่ลงลายมือชื่อ ก็ถือว่ารับทราบข้อกล่าวหาโดยชอบแล้ว และมีผลผูกพันผู้ต้องหา

การจะลงลายมือชื่อหรือไม่นั้นไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ถือว่าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ภายหลังผู้ต้องหามาอ้างว่าคำให้การตามบันทึกของพนักงานสอบสวนไม่ตรงกับที่ให้การไว้ในตอนแรกนั้น ก็สามารถทำได้ โดยศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยเองว่าคำให้การใดรับฟังได้ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาไม่รับข้อเงื่อนไขประกันตัวของพนักงานสอบสวนนั้น ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเห็นด้วยกับข้อกำหนดของพนักงานสอบสวนหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ถือว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบโดยชอบแล้ว ถ้าห้ามออกนอกประเทศ พนักงานสอบสวนก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)ทั่วประเทศว่า ห้ามบุคคลคนนี้ออกนอกประเทศจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวน
(แฟ้มภาพ)อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
 (แฟ้มภาพ)สุเทพ เทือกสุบรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น