xs
xsm
sm
md
lg

น.เล็งใช้เครื่องมือตรวจหาสารเสพติดไฮเทคตรวจ น้ำลาย-เหงื่อ “ขี้ยา”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เครื่องมือไฮเทคในการตรวจวัดสารเสพติดด้วยน้ำลายและเหงื่อของผู้เสพยาเสพติด
บช.น.สาธิตการใช้เครื่องมือไฮเทคในการตรวจจับผู้เสพยาเสพติดโดยทางน้ำลายและเหงื่อ ชี้ ผลตรวจรวดเร็ว พร้อมเครื่องพิมพ์วัดค่าปริมาณแยกสารเสพติดว่าเป็นชนิดใด เตรียมนำมาใช้กับงานตรวจจับใน บช.น.ทุกรูปแบบ

วันนี้ (26 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ สุริวงศ์ รอง ผบก.สปพ. ร่วมกันแถลงเครื่องมือตรวจจับสารเสพติดตามผิวหนังและช่องปาก พร้อมทั้งสาธิตการใช้เครื่องตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวให้สื่อมวลชนเข้าใจ โดยเป็นเครื่องมือที่ผลิตจากประเทศสวีเดน และราคาของเครื่องตรวจสารเสพติดดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อเครื่อง

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เปิดเผยว่า อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย โดยจะนำไปใช้ในการเข้าตรวจสถานบันเทิง หรือสถานบริการ โดยระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบสถานบันเทิงของ พล.ต.ต.อดุลย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอด และตนได้กำชับให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ด้วยความถูกต้อง โปร่งใส่ ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ลงไปร่วมปฏิบัติงานนั้นไม่ต้องหวั่นไหว ตนพร้อมที่จะรับผิดชอบ

ด้าน พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับสถานบันเทิงและสถานบริการที่ผิดกฎหมายทุกราย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จะมีปัญหาตรงที่การสุ่มตรวจในแต่ละครั้งของผู้ที่มาเที่ยวในแต่ละแห่งมีจำนวนมาก การตรวจปัสสาวะค่อนข้างจะมีปัญหาและล่าช้า เพราะสามารถทำได้เพียง 1 ครั้ง ก็ต้องยกเลิกไป

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจหาสาเสติดได้ 7 ชนิด ได้แก่ 1.กัญชา 2.เคตามีน (ยาเค) 3.แอมเฟตามีน (ยาบ้า) 4.เมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) 5.โคเคน 6.เอ็กค์ตาซี (ยาอี) และ 7.เฮโรอีน มอร์ฟีน โดยหลักการทำงานของเครื่องนี้จะใช้แผ่นลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมป้ายที่เหงื่อ ส่วนที่มีลักษณะกลมจะป้ายที่น้ำลายของผู้ต้องสงสัย จากนั้นนำจะนำเข้าเครื่องตรวจ โดยผ่านกระบวนการความร้อนจนระเหยเป็นไอ และกลายเป็นโมเลกุล ต่อมา เครื่องจะทำการประมวลผล โดยปรินต์ใบรายงานผลออกมาว่า ผู้ต้องสงสัยเสพสารเสพติดชนิดใด โดยจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1-2 นาที

“การตรวจโดยใช้น้ำลายจะใช้เวลาเร็วกว่าตรวจทางเหงื่อ หลังจากตรวจเสร็จในแต่ละรายก็จะใช้เวลาเซ็ตเครื่องใหม่ 3 นาที แม้จำนวนคนจะมากถึง 1 พันคน ก็สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ถ้าผู้ต้องสงสัยเสพยาเกินกว่า 6-12 ชั่วโมง อาจทำให้ไม่สามารถตรวจหาสารเสพติดพบ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของสารเสพติดด้วย” พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าว

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ) ที่นำกำลังมาช่วยในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบันเทิงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทาง บช.น.ยังไม่ได้มีการจัดซื้อเครื่องมือตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยจะให้นำเครื่องมือดังกล่าวมาสาธิตการวิธีการใช้และทดสอบประสิทธิภาพ หากได้ผลดีก็จะทำการจัดซื้อเพื่อนำมาใช้ต่อไป ซึ่งการนำไปใช้ไม่ใช่เฉพาะการตรวจในสถานบันเทิงเท่านั้น แต่ใช้ได้หลายกรณีในงานอาชญากรรม เช่น การจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติด การจับกุมแก๊งซิ่ง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น