xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง “สุวรรณ กู้สุจริต” ทุจริตสร้างสนามกีฬา ชี้ปฏิบัติตามระเบียบ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลพิพากษายกฟ้อง “สุวรรณ กู้สุจริต” อดีตอธิบดีกรมพลศึกษาและอดีต ส.ส.ปชป. 2 สมัย กับพวก 11 คน ทุจริตก่อสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ คลอง 6 ปทุมธานี ชี้ไม่เจตนาทุจริต และปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ด้านเจ้าตัวดีใจ ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์

ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (5 ต.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีดำ อ.3014/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุวรรณ กู้สุจริต อายุ 71 ปี อดีตอธิบดีกรมพลศึกษาและอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1 นายสมเกียรติ ตงศิริ อายุ 60 ปี เจ้าหน้าที่บริหารงานออกแบบก่อสร้าง สำนักการกีฬา เป็นจำเลยที่ 2 นายบัณฑิต ปลีหจินดา อายุ 56 ปี เจ้าหน้าที่พัสดุ 7 กองคลัง เป็นจำเลยที่ 3 นายวิทยา วงษ์สมาน อายุ 64 ปี อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงาน 7 สำนักกีฬา เป็นจำเลยที่ 4 นายประพัน ไพรอังกูร อายุ 52 ปี นายช่างไฟฟ้า 5 สำนักกีฬา เป็นจำเลยที่ 5 นายปกรณ์ ปั้นจั่น อายุ 40 ปี นายช่างเขียนแบบ 4 สำนักกีฬา เป็นจำเลยที่ 6 นายสมศักดิ์ อยู่คง อายุ 67 ปี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษา กรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 7 นายสมพงษ์ ผาสุข อายุ 53 ปี นายช่างโยธา 5 เป็นจำเลยที่ 8 นายพีชเรข พิริยหะพันธุ์ อายุ 67 ปี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการกีฬา เป็นจำเลยที่ 9 นายพีระพงศ์ สุวรรณราช อายุ 56 ปี เจ้าหน้าที่พลศึกษา 6 เป็นจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการกรมพลศึกษา และนายบุญชู วงศ์กิจรุ่งเรือง อายุ 57 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอินเตอร์ แอร์ ซัพพลาย จำกัด เป็นจำเลยที่ 11 ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, เป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2552 ว่า ขณะเกิดเหตุ กรมพลศึกษามีโครงการก่อสร้าง 2 โครงการ คือ โครงการที่ 1 โครงการก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬา สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 และเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ (คลอง 6 ต.ธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 4 หมวดงาน ด้วยวิธีพิเศษ โดยมีบริษัท สยามอินเตอร์แอร์ จำกัด โดยนายบุญชู จำเลยที่ 11 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ประมูล ก่อสร้างหมวดงานที่ 4 อาคารบริการกลาง กรมพลศึกษา ราคา 97,187,446 บาท สำหรับโครงการที่ 2 ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งกรมพลศึกษาได้ทำสัญญาจ้างบริษัท แปซิฟิก แอสโซซิเอท กรุ๊ป จำกัด ก่อสร้างในวงเงิน 1,623 ล้านบาท ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานการตรวจรับงาน และจำเลยที่ 2-10 เป็นกรรมการตรวจรับงาน

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 ม.ค. 2541-29 ก.ย. 2543 พวกจำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรม โดยได้รับรองเป็นหนังสือว่างานตามสัญญาจ้างที่บริษัท สยามอินเตอร์ฯ ส่งมอบให้กรมพลศึกษาเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์นั้นไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 รวมทั้งพวกจำเลยยังได้ร่วมกันมีความเห็นเพื่ออนุมัติงดค่าปรับบริษัท สยามอินเตอร์ฯ ที่ก่อสร้างงานเสร็จล่าช้า โดยอ้างว่าเกิดจากความผิดหรือความล่าช้าของกรมพลศึกษาเอง ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ความผิดของกรมพลศึกษาแต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 6 พ.ค. 2542 จำเลยที่ 1 ได้ทำการตรวจการจ้างและรายงานผลการปฏิบัติงานของบริษัท แปซิฟิกฯ ผู้รับจ้างว่า ได้ทำงานเสร็จเรียบร้อยและอนุมัติเงินค่าก่อสร้างจำนวน 50 ล้านบาทให้ ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะการก่อสร้างกำแพงกันดินดังกล่าวไม่ถูกต้องตามแบบในสัญญาจ้าง

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ฐานะอธิบดีกรมพลศึกษาผู้ว่าจ้างได้อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่บริษัท แปซิฟิกฯ ผู้รับจ้าง จำนวน 142,824,000 บาท และสั่งให้บริษัทฯ หยุดงานเพื่อแก้รูปแบบรายการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ทำให้บริษัท แปซิฟิกฯ มิได้นำเงินล่วงหน้าไปก่อสร้างตามวัตถุประสงค์ของคณะรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การแก้ไขรูปแบบรายการก่อสร้างอาคารเรียนไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัท แปซิฟิกฯ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียงว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157, 162, 83, 86, 90, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง 11 คนกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า งานทั้ง 6 รายการดังกล่าวข้างต้น เฉพาะงานติดตั้งผนังบานเลื่อนเป็นงานนอกจากที่สัญญาจ้างกำหนดให้ทำ ส่วนงานอีก 5 รายการนั้น แม้บางส่วนจะเป็นงานที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงจากสัญญา แต่ก็มีเหตุผลความจำเป็น ไม่ทำให้ราชการต้องเสียประโยชน์ จึงถือว่าผู้รับจ้างทำถูกต้องตามสัญญา และเมื่อศาลรับฟังว่างานทั้ง 6 รายการที่ผู้รับจ้างทำ ไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ผู้ควบคุมงานจะสั่งให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไข ซึ่งผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ต้องรับมอบงานงวดที่ 6-8 โดยเร็ว แต่ผู้ควบคุมงานกลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 8 เดือน นับจากวันที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานถือเป็นความผิดปกติของขั้นตอนการรับมอบงานของผู้ควบคุมงานที่จะต้องปฏิบัติ โดยเมื่อผู้ควบคุมงานส่งหนังสือมอบงานงวดที่ 7-8 ถึงประธานกรรมการตรวจจ้าง ซึ่งปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ทำหนังสือส่งมอบงานตั้งแต่ 3 ธ.ค. 2541 แล้ว แม้ผู้ควบคุมงานไม่ทำความเห็นประกอบมาด้วยแต่คณะกรรมการตรวจการจ้างก็มีอำนาจทำได้ โดยการประชุมตรวจรับงานเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2542 มีผู้ควบคุมงานร่วมประชุมด้วย ซึ่งให้ความเห็นว่าผู้รับจ้างทำงานเสร็จตามสัญญาตั้งแต่ 3 ธ.ค. 2541 แล้ว จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ควบคุมงานเองก็ได้รับรองแล้ว คงเหลือแต่งานที่ชำรุดเสียหายจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ และเฟสปิกเกมส์ที่ต้องซ่อมแซมก่อนตรวจรับงานเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1-10 ทำการตรวจจ้างแล้วมีมติรับงานงวดที่ 6-8 จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 72 และ 136

ส่วนที่จำเลยที่ 1-10 มีมติให้คืนเงินค่าปรับแก่ผู้รับจ้างใน 4 หมวดงาน ศาลเห็นว่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 139 ให้อำนาจหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของจำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมพลศึกษาที่จะพิจารณาว่าสมควรลดหรืองดค่าปรับให้ผู้รับจ้างรายใดหรือไม่ ขณะที่ในการพิจารณาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ รวมทั้งขอความเห็นจากผู้ควบคุมงานด้วย ซึ่งหลักจากพิจารณาแล้วได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างที่มีมติให้ลดค่าปรับกับผู้รับจ้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างรอบคอบไม่มีเจตนาช่วยเหลือผู้รับจ้าง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2-10 พิจารณางดค่าปรับเป็นเพราะเหตุที่เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของกรมพลศึกษาเอง และการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาย่องแสดงให้เห็นถึงความรอบคอบคำนึงถึงผลประโยชน์ราชการและให้ความเป็นธรรมต่อผู้รับจ้างด้วย ส่วนที่มีการอนุมัติให้แก้ไขรูปแบบรายการก่อสร้างบางรายการนั้นเห็นว่าปัญหาเกิดจากความเข้าใจแบบก่อสร้างที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ควบคุมงานตั้งแต่เดือน ก.พ. 2542 จึงถือได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยมีวิศวกรผู้ออกแบบเบิกความรับรอง ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบางรายการไม่มีผลต่อโครงสร้างจึงไม่ถือว่าทำให้ราชการเสียประโยชน์ และที่จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้า 142,824,000 บาทให้กับบริษัท แปซิฟิคแอสโซซิเอท กรุ๊ป จำกัด นั้น เป็นการดำเนินการตามมติ ครม.เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างซึ่งขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-10 จึงยังไม่พอฟังว่ามีเจตนาทุจริตหรือประพฤตมิชอบ จึงไม่มีความผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสุวรรณ กู้สุจริต กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากและต้องกราบขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าตนไม่มีความผิดและไม่ได้ทุจริตตามที่ถูกกล่าวหา ยืนยันว่าขณะที่รับราชการนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และไม่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งได้พยายามปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ตลอดระยะเวลา 16 ปีในคดีนี้เปรียบเหมือนตกนรกทั้งเป็น เพราะข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก ทั้งที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดเอกสารต่างๆ ให้รอบคอบ ทั้งนี้ ตนเป็นอดีต ส.ส.เขต 1 จ.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครแทน นายชวน หลีกภัย 2 สมัย แต่ภายหลังมีคดีความ ทำให้เสียสิทธิในการลงสมัคร ส.ส. เพระทางพรรคประชาธิปัตย์ต้องการคนที่มีประวัติขาวสะอาด จึงให้ตนไปต่อสู้คดีและพิสูจน์ตนเองก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วจะกลับไปลงเล่นการเมืองหรือไม่

อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า ยังไม่คิดในเรื่องนี้ และไม่คิดจะฟ้องกลับใคร ตอนนี้รู้สึกยินดีเพียงอย่างเดียว สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการดีๆ ที่ซื่อสัตย์ เชื่อว่ายังมีอยู่มาก แต่อาจจะถูกคนโกงกลั่นแกล้งว่าทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับข้าราชการ
นายสุวรรณ กู้สุจริต อดีตอธิบดีกรมพละศึกษาและ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์


กำลังโหลดความคิดเห็น