“ปิยะ” โฆษก สตช.เผยรายงานสภาพอาชญากรรมที่จัดทำโดย สสำนักงานยุทธศาสตร์ ตร. (สยศ.ตร.) รอบ 9 เดือน ปี 2555 คดีอาชญากรรมลดลง ชี้คดีลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ในกรุงเทพฯ มากสุด ช่วงเวลาเที่ยง-เย็น โจรก่อเหตุมาก ส่วนภูมิภาคคดีโจรกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ลดลง ชี้ภาค 1 รถยนต์หายเยอะสุด “วีโก้-ดีเเมคซ์” ครองแชมป์ใบสั่งโจร พร้อมออกโรงเตือนร้านเกม-อินเทอร์เน็ต ทั่วประเทศ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด หวั่นเป็นแหล่งมั่วสุมเด็ก!!!
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยรายงานสภาพอาชญากรรมที่จัดทำโดย สำนักงานยุทธศาสตร์ ตร.(สยศ.ตร.) รอบ 9 เดือน ปีงบประมาณ 2555 พบว่า คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ และ คดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2554 ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยหลักมาจากการเมาสุราและยาเสพติด สำหรับช่วงเข้าพรรษามีแนวโน้มว่าจะสามารถควบคุมปัจจัยหลักได้ เช่นเดียวกับคดีประทุษร้ายต่อร่างกายลดลงเช่นกัน โดย พื้นที่รับแจ้งคดีมากที่สุด คือ บช.น. ส่วนใหญ่เป็นคดีลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ โดยเกิดเหตุมากในช่วงเวลา 12.00-18.00 น. (เป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกบ้าน) มักเกิดในพื้นที่เคหสถาน ทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายส่วนใหญ่เป็นจักรยานยนต์ และเงินสด
โฆษก สตช.กล่าวอีกว่า คดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์รับแจ้งลดลงร้อยละ 5.90 โดยเกิดเหตุมากในช่วงเวลา 18.00-24.00 น. บนถนน, ทางสาธารณะ และเคหะสถาน ยี่ห้อที่นิยมที่สุด คือ ฮอนด้า และยามาฮ่า และคดีโจรกรรมรถยนต์ มีการรับแจ้งลดลงร้อยละ 0.35 พื้นที่รับแจ้งคดีมากที่สุด คือ ภ.1 โดยเกิดเหตุมากในช่วงเวลา 18.00-24.00 น. บนถนน, ทางสาธารณะและเคหะสถาน ยี่ห้อที่มีการโจรกรรมมากที่สุด คือ โตโยต้าและอีซูซุ
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า สตช.ได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการร้านเกมส์และร้านอินเตอร์เน็ทที่ปล่อยปละละเลยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการเกินเวลาห้าม จะถูกดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดหลังจากสถิติการจับกุมของแต่ละพื้นที่ พบว่าเดือน ก.ค. 2555 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทั้งสิ้น 53 ราย ผู้ต้องหา 56 คน ลดลงกว่าผลการจับกุมในเดือน มิ.ย. คิดเป็นร้อยละ 32.91 โดย ตร.เห็นว่าผลการปฏิบัติจับกุมที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณร้านเกมในพื้นที่รับผิดชอบ และพบว่าผู้ประกอบการ ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าใช้บริการร้านเกมในเวลาห้าม เป็นการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายและกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ สตช.ได้กำชับตำรวจทุกพื้นที่ควบคุมการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้ผลการปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ