xs
xsm
sm
md
lg

“บาปบริสุทธิ์” ปัญหาอาชญากรรมเด็ก!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“อันคนเราหญิงชายทั้งหลายแหล่ ต่างมีดีมีแย่อยู่พอๆ กัน ถึงเมื่อคราวแรกเจอกันมักหวานชื่น ต่างหยิบยื่นความดีให้แก่กัน ผมเป็นสุภาพบุรุษนะครับ ฉันเป็นสุภาพสตรีค่ะ ผมไม่กินเหล้าไม่สูบยานะ ฉันก็ไม่ยุ่งไม่ขี้บ่น วันเวลาผันไปช่างหวานชื่น ต่างหยิบยื่นไมตรีดีต่อกัน ความรักความงดงามช่างยิ่งใหญ่ จึงตกลงปลงใจไปแต่งงานกัน...
ผมยังกลับบ้านตรงเวลานะ ฉันเป็นแม่บ้านที่ดีค่ะ ผมให้เงินเดือนคุณหมดเลยนะ ฉันจะใช้สอยอย่างประหยัดค่ะ วันเวลาผันไปแหมชักเบื่อ ต่างไม่เหลือสิ่งดีมาอวดกัน ต่างคนต่างเริ่มทําในสิ่งใหม่ เริ่มกระทําตามใจที่ต้องการ ผมไปกินเหล้ากับเพื่อนมานะ ฉันไปงานเลี้ยงที่ทํางานย่ะ ผมเหลือเงินให้คุณแค่นี้พอนะ ฉันก็มีภาระใช้มากกว่าเก่า ยามเมื่อความอดทนถึงที่สุด จึงต้องหยุดไว้ตรงเลิกรากัน...
มันจึงเป็นผลงานที่แสนห่วย
คนที่ซวยก็คือตัวลูกน้อย…
ฉบับนี้ขออนุญาตหยิบยกบทเพลงเพื่อชีวิตของ ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก คาราบาว มาขับกล่อมเกริ่นนำสะท้อนให้ผู้อ่านฟังในขณะที่ปัญหาอาชญากรรมเด็กในสังคมทวีความรุนแรงมากขึ้น ผสมผสานกับคุณภาพชีวิตความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในช่วงที่มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ไม่เว้นกระทั่งล่าสุดกับการกระทำที่อุกอาจของคนร้ายสองคนก่อเหตุควงปืนเข้าปล้นรถขนเงินของบริษัท สยามแอตมินนิสเทรทีฟ แมนเนจเมนท์ จำกัด หรือ แซมโก้ บริเวณหน้าโกดังเก็บรถขนเงินริมถนนโรจนะ ปากทางเข้าซอยกะมัง ตำบลไผ่ลิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่งกลังจากเก็บเงินสดจากห้างโลตัส มาร่วม 10 ล้านบาท แต่โชคดีที่คนขับรถของแซมโก้คันเกิดเหตุมีสติขับรถฝ่าห่ากระสุนาออกไปทำให้คนร่ายก่อเหตุไม่สำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตาของเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนได้เป็นอย่างดีว่ากำลังเผชิญอยู่ในความเสี่ยงของปัญหาอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ทุกเมื่อ

แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเขียนเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมอีกมุมหนึ่ง ที่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้กันเลย นั่นก็คือ ปัญหาอาชญากรรมเด็ก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน มีคดีสะเทือนใจประชาชนอยู่หลายคดีด้วยกันที่ “เด็ก” เป็น “ผู้ถูกกระทำ” และ “เด็ก” ตกเป็น “ผู้ต้องหากระทำความผิด” ยกตัวอย่างคดีที่สะเทือนใจประชาชนล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ คดีทำร้ายร่างกายผู้อื่นที่เด็กวัยรุ่นชายอายุ 17 ปี ก่อเหตุใช้เก้าอี้ฟาดใบหน้า นางสมจิตร พรายเนาว์ อายุ 51 ปี แม่บ้านห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จนบาดเจ็บเย็บถึง 12 เข็ม และคดีที่ 4 วัยรุ่นก่อเหตุใช้ไม้เบสบอลปล้นชิงทรัพย์นักร้องหนุ่มวงเคพีเอ็น รวมถึงคดีฆ่าปาดคอชิงทรัพย์คนขับรถแท็กซี่ วัย 60 ปี บริเวณใกล้กับสุเหร่าท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าฆาตรกรผู้ลงมือฆ่าจะเป็น เด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปี เท่านั้นที่ลงมือก่อเหตุจนเป็นข่าวสะเทือนขวัญประชาชนและสังคมได้สลดหดหู่ว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมเราทุกวันนี้

และอีกคดีหนึ่งที่สะเทือนใจประชาชนไม่แพ้กัน...
“คดียายฆ่าหลานตนเอง” ซึ่งคดีนี้ “เด็ก” เป็นผู้ถูกกระทำและไม่มีโอกาสขึ้นมาเปิดปากโต้แย้ง “ข้อเท็จจริง” ได้ว่าเป็นไปตามคำกล่าวอ้างของยายผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ที่อ้างว่า “น้องเบิร์ด”มีพฤติกรรมเกเร ทำร้ายร่างกายผู้เป็นยายอยู่เป็นประจำ จนยายทนไม่ไหว ใช้ไม้ตีลงที่ศรีษะน้องเบิร์ดจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปอำพรางคดีที่บริเวณบันได คดีนี้เริ่มแรกเมื่อปรากฏเป็นข่าวสังคมต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กถูกฆาตรกรรมอย่างปริศนามีเงื่อนงำและสะเทือนใจประชาชน แต่ไม่นาน “ยาย” ผู้ลงมือฆ่า “น้องเบิร์ด” ก็เปิดปากรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะทนต่อแรงกดดันการสอสบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัย “ยาย” จะเป็นผู้ก่อเหตุตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ต้องการให้ครอบครัวจัดการเรื่องงานศพของ “น้องเบิร์ด” ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยเสียก่อน

คดีนี้ทำเอาประชาชนช็อกและสะเทือนใจไปตามๆ กัน มากกว่าประเด็น “น้องเบิร์ด” ถูกฆาตกรรมโหดริมบันได เพราะผู้ลงมือฆ่ากลับเป็น “ยายแท้ๆ ของน้องเบิร์ด” เสียเอง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญ ไม่ว่าปัญหาอาชญากรรมเด็กที่เกิดขึ้นนั้น เด็กจะเป็นผู้ถูกกระทำ หรือ เด็ก จะตกเป็น “จำเลย” ผู้ก่อเหตุเองก็ตาม เพราะปัญหาความรุนแรงในคดีเด็กและเยาวชนไทย เป็นเครื่องสะท้อนคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ที่ผมต้องเขียนเน้นย้ำให้ตระหนักว่าสำคัญ เพราะ “เด็ก” หรือ “เยาววชน” ในวันนี้คือ “ผู้ใหญ่” ในวันหน้า เด็กคืออนาคตของชาติ ถ้าเด็กวันนี้มีปัญหาเรื่องความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรมเด็ก ถ้าทุกฝ่ายไม่ช่วยกัน “อนาคตประเทศชาติเราจะเป็นอย่างไรกันเล่า?!”

ฉบับนี้ทีมข่าวอาชญากรรม มีโอกาสได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผู้กำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) โดยท่านให้ความเห็นถึงเรื่องปัญหาอาชญากรรมเด็กที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ว่าก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบมุมมองของทาง กก.ดส.เราเห็นว่า เด็กไม่ใช่อาชญากร แต่ถือเป็นเยาวชนผู้กระทำความผิดครั้งแรกสังคมและประชาชนควรให้โอกาสเด็กเหล่านี้กลับตัวกลับใจเป็นคนดี อย่างกรณีเด็กที่ใช้เก้าอี้ฟาดหน้าแม่บ้าน จนมีชาวต่างชาติถ่ายคลิปวีดีโอและนำคลิปนี้ไปเผยแพร่ในโลกอินเทอร์เน็ตจนเป็นข่าวนั้น

“ตามที่ผมได้พูดคุยกับเด็กคนนี้ทำให้ทราบว่าเด็กมีภาวะเก็บกดในจิตใจ เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างใกล้ชิด เด็กอาศัยอยู่กับน้าของตัวเองจึงทำให้เขาขาดความรักความอบอุ่น อีกทั้งเขามีความรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยวต้องเข้มแข็งและแสดงความก้าวร้าวออกมาเมื่อตนเองรู้สึกว่าถูกคุกคาม อย่างคดีนี้ที่เกิดขึ้นเพราะเด็กอยู่ในสภาวะเครียดเนื่องจากนาฬิกาที่ผู้เป็นพ่อซื้อให้นั้นหายไป และเขาสงสัยว่าหญิงแม่บ้านรายนี้ขโมยนาฬิกาเขาไป ถามว่าอยู่ดี ๆ เด็กจะไปเอาเก้าอี้ไปฟาดคนโน้นคนนี้ไหม ก็ตอบว่าไม่ แต่มันเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวเนื่องกัน เด็กเหล่านี้มีภาวะกดดันอยู่ในจิตใจ เมื่อถูกคุกคามหรือรุกล้ำเขาก็จะแสดงออกมา ซึ่งบางทีเขาอาจจะควบคุมตนเองไม่ได้อันเนื่องมาจากความกดดันในจิตใจตนเองตั้งแต่เยาว์วัย ถามว่า “เด็ก” เลวเองโดยธรรมชาติหรือไม่ ผมก็ต้องเรียนว่าไม่ เพราะ “เด็ก” ถือเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่จะแต่งแต้มสีอะไรลงๆไปให้เด็กเท่านั้น”

พ.ต.อ.วิวัฒน์ บอกด้วยว่าสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาอาชญากรรมเด็กได้เป็นอย่างดี นั่นคือ 1.“สถาบันครอบครัว” ตรงนี้อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม 2. “โรงเรียน” ตรงนี้อยากฝากถึงครูอาจารย์ทุกคนช่วยดูแลเด็กที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาความรุนแรงในเด็ก ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เพราะปัจจุบันเด็กใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองออกไปทำงานบางทีทั้งสัปดาห์ไม่มีโอกาสได้พบเจอพูดคุยกับลูกตนเองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งจะให้การแก้ปัญหาให้ได้ดีต้องใช้ความร่วมมือระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและโรงเรียนทำร่วมกัน ตรงนี้จะช่วยได้มากทีเดียว

“ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในเด็กเพิ่มมากขึ้นโดยมีปัจจัยหลายสาเหตุ สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กคือ “อินเทอร์เน็ต” ต้องยอมรับว่า ส่วนนี้ควบคุมลำบากเพราะเด็กในสังคมปัจจุบันติดอยู่ในโลกออนไลน์ เด็กมีสังคมการเรียนรู้ที่กว้างขึ้นเราไม่สามารถไปควบคุมถึงการเข้าถึงของเด็กได้ ที่เขาสามารถไปรับรู้สิ่งต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งตรงนี้ถือเป็นอันตราย อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มากแต่ก็แฝงไว้ด้วย “สิ่งปลอมปน” ที่มาตามเวปไซต์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น หนังโป๊, คลิปโป๊, การโชว์การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น, พฤติกรรมแปลกๆ ของวัยรุ่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เมื่อเห็นเป็นตัวอย่างและเป็นที่ยอมรับในหมู่วัยรุ่นก็ทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ใครไม่ทำ ไม่เท่ เชย เข้ากลุ่มไม่ได้”

ผกก.กก.ดส.เปิดเผยว่า สถิติปัญหาอาชญากรรมเด็กและเยาวชนที่เราจัดอันดับไว้ คือ 1. ปัญหาเด็กหาย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงวัย 11-12 ปี ซึ่งมาจากปัญหาต่างๆ ภายในครอบครัว ทำให้เด็กหนีออกจากบ้านเอง ตามเพื่อนไป และถูกล่อลวง 2.ปัญหาชู้สาว ซึ่งเป็นปัญหาที่ตามมาจากปัญหาแรก และ 3.ปัญหาอาชญากรต่างชาติเข้ามาล่อลวงละเมิดทางเพศเด็กไทยด้วยวิธีการต่างๆ

ส่วนข้อถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญาหาเหล่านี้ได้อย่างไรในกรณีที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีบุตรหลานที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงในเด็ก ทาง กก.ดส.เรามีโครงการโรงพักวิถีพุทธ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 165 คน ที่ออกตรวจตราเด็กกลุ่มเสี่ยงตามสถานที่ต่างๆ ที่ถือเป็นสถานที่อโคจรสำหรับเด็ก เราจะควบคุมตัวเด็กเหล่านี้มาเข้าโครงการบำบัดในเวลา 2 ชั่วโมง มีการเปิดวีซีดีการคลอดบุตรของผู้เป็นแม่ให้เด็กดู และเรียนรู้ว่าพ่อแม่รักและลำบากเพียงใดกว่าจะคลอดลูกออกมาลืมาตาดูโลกได้ พร้อมกับสอนให้รู้ว่าถ้าทำไม่ดีพ่อแม่จะเสียใจเพียงใด และการให้เด็กเหล่านี้ทำสมาธิพิจารณาสิ่งที่ตนทำ พร้อมกับเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองหรือทางโรงเรียนมาร่วมรับตัวเด็กกลับไป แต่ทั้งนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดประสงค์จะให้เด็กอยู่ในโครงการต่อเราก็จะส่งตัวเด็กเข้าไปร่วมฝึกกับตำรวจทหารเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม ที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยสามารถแจ้งมาที่ตนได้ที่หมายเลข 081-331-2133 หรือกองกำกับสวัสดิภาพเด็กและสตรี โทร.02-629-9900, 02-282-3892

อีกด้านหนึ่งผู้คลุกคลีอยู่ในการพัฒนาคุณภาพเด็กไทย เรามาพูดคุยกับ “ครูหยุย” นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บอกกับเราว่าปัญหาอาชญากรรมเด็กมีปัจจัยการเกิดปัญหามาจาก 3 สาเหตุใหญ่ คือ 1.ปัญหายาเสพติด 2.เพศ และ 3.ความรุนแรง

โดยครูหยุยเชื่อมโยงปัญหาทั้ง 3 ล้วนเกิดมาจากปัญหาของสังคมและเด็กเป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยความรุนแรงในเด็กท่าถูกสะท้อนออกมาทุกวันนี้แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.เด็กเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนนี้จะเกิดขึ้นมากกับเด็กผู้หญิงที่มักถูกคนใกล้ชิดล่วงละเมิดทางเพศ และ 2.เด็กเป็นผู้กระทำ ซึ่งส่วนนี้ต้องบอกก่อนว่าเด็กเหล่านี้หากสืบประวัติจะพบว่ามีปัญหาขาดความอบอุ่นในครอบครัว บางรายเคยถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงเกิดภาวะเก็บกด เมื่อมีอะไรไปกระตุ้นจึงเหมือนระเบิดเวลาที่ถูกระเบิดออกมาจึงเด็กเหล่านี้ก็จะแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่รุนแรงด้วยเช่นกัน

“ผมอยากให้สถาบันครอบครัวหันมาให้ความสนใจเด็กให้มากกว่า อย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งควรมีเวลาพูดคุยกับเด็กว่ามีปัญหาชีวิตอะไรหรือไม่ มีกิจกรรมร่วมกันบ้าง คนเรามักจะอ้างว่าไม่มีเวลาให้ลูกต้องทำงาน ตรงนี้ผมอยากให้ท่านคิดใหม่ เวลาคนเรามีเท่ากันทุกคนแต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากกว่า เราเอาเวลาเหล่านั้นมาให้ความสำคัญกับลูกมากน้อยเพียงไร บางคนหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ก็ไม่ได้มาใช้เวลากับลูกเลยสักนิด เวลามี-ไม่มี ไม่สำคัญเท่าคุณภาพในการบริหารเวลาสำหรับลูกท่านให้ความสำคัญเพียงใด ถ้าท่านให้ความรักความอบอุ่นบุตรหลานตนเองปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมเด็กจะไม่เกิดครับ”

ส่วนพ่อแม่บางคนอาจจะบอกว่าตนเองเลี้ยงดูลูกและให้ความอบอุ่นลูกดีแล้วแต่เด็กกลับมีพฤติกรรมก้าวร้าว ด่าทอ และทำร้ายพ่อแม่ นั้น ครูหยุยบอกว่าเกิดจากการกระบวนการเรียนรู้ผิดๆ ของเด็ก เพราะเด็กเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้พ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยแล้วค่อยๆ ดึงลูกกลับมาอย่างชาญฉลาด ควรใช้วิธีพูดคุยกับลูกดี ๆ มากกว่าการลงโทษและใช้กำลัง เพราะบางทีเด็กไม่ได้ตั้งใจและไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นที่พวกเพื่อนตนปฏิบัติกับพ่อแม่เป็นสิ่งถูกต้อง เพราะเด็กเคยชินกับคำพูดและพฤติกรรมที่เพื่อนในหมู่คณะกระทำกัน จนทำให้เรียกได้ว่า “ไม่รู้กาลเทศะ” กิจกรรมและการพูดคุยกับลูกจะช่วยได้มากทีเดียว

หากดูเรื่องปัญหาสุขภาพจิต นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์สานติ์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่าปัญหาอาชญากรรมเด็กไม่ใช่ปัญหาของเด็กโดยลำพังซึ่งความรุนแรงที่เด็กแสดงออกมาจนเกิดอาชญากรรมที่เด็กก่อขึ้นจนเป็นที่สะเทือนใจในสังคมเพราะความรุนแรงที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำในวัยเด็ก แล้วกลับไปถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เช่น เกม และกิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตต่างๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็ก ซึ่งสถิติปัญหาอาชญากรรมเด็ก ปี พ.ศ.2555 นี้เกิดขึ้นประมาณ 50,000 กว่ารายต่อปี ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4-5 ปีก่อนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่มีปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในเด็กปีหนึ่งประมาณ 40,000 ราย ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจและทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะ ครอบครัวและโรงเรียน ที่ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด
“สิ่งที่ผมเป็นกังวลมาก คือ ปัญหายาเสพติด ที่เด็กต้องตกเป็นเหยื่อถูกผู้ใหญ่หลอกใช้มากขึ้น อาจจะด้วยว่าเด็กก่อเหตุแล้วกฎหมายเด็กไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ เด็กจึงถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดมากขึ้น ซึ่งปัญหายาเสพติดเป็นเครื่องสะท้อนให้เกิดปัญหาเด็กได้เป็นอย่างดี สังเกตง่ายๆ หากช่วงใดมียาเสพติดระบาดเยอะ จะมีปัญหาเด็กก่อปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น”
ส่วนปัจจัยที่จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อปัญหาความรุนแรงในเด็กอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู นพ.ยงยุทธ เตือนพ่อแม่ผู้ปกครองว่า 1.ช่วงวัยอนุบาล อายุ 3-5 ปี พ่อแม่ไม่ควรตามใจเด็กมากเกินไป เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่บ่มเพาะอารมณ์และนิสัยคนเรา 2.เลี้ยงดูไม่สม่ำเสมอ ทำให้เด็กขาดความรักความอบอุ่นและขาดการควบคุมทางอารมณ์ และ 3.เด็กที่ถูกทำร้ายทางด้านจิตใจ ซึ่งเด็กที่ก่อปัญหาอาชญากรรมนั้นล้วนมีปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้ในการเลี้ยงดูและการเจริญเติบโตมาด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยดูแลเด็กอย่างดีตั้งแต่เนิ่นๆ ปัญหาเหล่านี้ก็จะทุเลาเบาบางลง

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยังได้เน้นย้ำว่ายังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและเสี่ยงต่อการกระทำความผิดในคดีอาชญากรรมได้ โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทราบสาเหตุหรือวิธีแก้ไขได้เพราะคิดว่าตนเองเลี้ยงดูบุตรหลานดีแล้ว อยากเตือนว่าอย่านิ่งนอนใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ถ้าบุตรหลานตนเองมีพฤติกรรมก้าวร้าวและคิดว่าเราได้ให้ความรักความอบอุ่นแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญที่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรนำบุตรหลานของท่านไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนได้ทุกแห่งเพื่อทำการประเมินและหาวิธีแก้ไขต่อไป “อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไร เพราะคำว่าไม่เป็นอะไรนี่ เมื่อมันมีความสูญเสียขึ้นมาแล้วมันประเมินค่าไม่ได้เลยกับอนาคตเด็กคนหนึ่ง และชีวิตความปลอดภัยของคนในสังคม”

และนี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยทุกวันนี้ ปัญหาอาชญากรรมเด็ก “เด็กเลว” หรือ “บาปบริสุทธิ์” ที่พ่อแม่สร้างขึ้นจากเหตุผลส่วนตัวของ “ผู้ใหญ่”และขาดความรับผิดชอบต่อสังคมจนทำให้ “ลูก”
เป็นผลงานที่แสนห่วย
คนที่ซวยก็คือตัวลูกน้อย…”

เรื่องโดย/สอนของพ่อ สถิตในดวงใจ


พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ ผู้กำกับการกองกำการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.)
ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น