เกือบกลายเป็นเรื่องใหญ่โตซะแล้ว เกี่ยวกับประเด็น "ใบสั่งปลอม" ที่มีการนำมาเผยแพร่ในโลกอินเทอร์เน็ตจนสร้างความมัวหมองให้กับวงการหัวปิงปอง รอง ผบช.น. แจงยันเป็น "ใบสั่งแท้" ไม่มีเทียม พร้อมกับนำตัวหนุ่มนักศึกษามือโพสต์เข้าชี้แจงสื่อมวลชนที่ บช.น.
สืบเนื่องจากกรณี นายกรวิทย์ ผึ้งสุวรรณ ได้ถ่ายรูปใบสั่ง 2 ใบของสน.พลับพลาไชย 1 และ สน.ศาลาแดง แล้วนำไปโพสต์เปรียบเทียบในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมบรรยายว่า ใบสั่งด้านขวาซึ่งเป็นใบสั่งของ สน. พลับพลาไชย 1 นั้นเป็นใบสั่งปลอม ส่วนใบสั่งด้านซ้ายซึ่งเป็นของ สน.ศาลาแดง เป็นใบสั่งจริง เพราะมีการประทับตราราชการไว้อย่างชัดเจน ขณะที่ใบสั่งของ สน.พลับพลาไชย 1 ไม่มีการประทับตรา และเป็นลายมือเขียนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังจากที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานด้านจราจร ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
พล.ต.ต.วรศักดิ์ ชี้แจงว่า จากการที่มีผู้นำใบสั่งออกมาเผยแพร่แล้วโพสต์ลงบนโซเชียลเนตเวิร์ก โดยเปรียบเทียบใบสั่งทั้ง 2 สน.เป็นใบสั่งจริงกับใบสั่งปลอมนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นใบสั่งจริงทั้ง 2 ใบ เพียงแต่วิธีการบันทึกข้อมูลลงในใบสั่งต่างกันระหว่างการเขียนด้วยปากกา กับการปั๊มตราข้อความ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ สน.แต่ละแห่งจะเลือกใช้วิธีใด และการนำใบสั่งซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการไปโพสต์ลักษณะนี้ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ
ล่าสุด วันนี้ (25 ก.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล นายกรวิทย์ ผึ้งสุวรรณ อายุ 23 ปี นักศึกษาระดับ ปวส.ปี 2 โรงเรียนพาณิชยการสยาม เดินทางมาพร้อมกับบิดามารดา โดยได้นำหลักฐานใบสั่งจำนวน 2 ใบ คือ ใบสั่งของ สน.พลับพลาไชย 1 ข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอดมาแปะไว้หน้ากระจกรถยนต์ของตนเอง หมายเลขทะเบียน ถย-4190 กทม.ที่ถูกล็อกล้อ และใบสั่งของ สน.ศาลาแดง ความผิดข้อหาฝ่าฝืนสัญญานไฟจราจร (ผ่าไฟแดง) โดยมีการยึดใบขับขี่และระบุชื่อผู้ขับรถทะเบียน ถย-4190 กทม.ไว้อย่างชัดเจนในใบสั่ง
พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ได้เชิญตัวนายกรวิทย์ ผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กมาชี้แจงและทำความเข้าใจกันพร้อมสอบถามเหตุผลว่า เหตุที่นำใบสั่งไปโพสต์ลงในเว็บไซต์นั้น เพราะเหตุใดและต้องการให้นายกรวิทย์ ขอโทษตำรวจในสิ่งที่ทำลงไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ใบสั่งทั้ง 2 ใบเป็นของจริง ส่วนที่มีการใช้ตรายางประทับและระบุค่าปรับนั้นถือเป็นความสะดวกของแต่ละพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีการใช้ใบสั่งมาก จึงต้องใช้การประทับด้วยตรายาง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงาน ส่วนอัตราค่าปรับก็สามารถระบุได้ เพราะเป็นข้อกำหนดสำหรับเปรียบเทียบปรับกับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร และสำหรับบุคคลที่เสียค่าปรับผ่านไปรษณีย์ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะไม่เสี่ยงปลอมแปลงใบสั่งอย่างแน่นอน เพราะมีโทษทางอาญา จำคุกถึง 20 ปี แต่หากประชาชนท่านใดสงสัยก็สามารถตรวจสอบได้
นายกรวิทย์ กล่าวยอมรับผิดว่า สาเหตุที่ทำลงไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากเห็นว่า ใบสั่ง 2 ใบ มีความแตกต่างกันเพราะใบหนึ่งมีการปั๊มตรายางเครื่องหมายราชการอย่างถูกต้อง ส่วนอีกใบไม่มีตราราชการแต่อย่างใด และตนก็ไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาก่อน เป็นเพราะความเข้าใจผิดของตนเอง เมื่อเห็นว่าเป็นข่าวจึงนำเรื่องไปปรึกษาพ่อแม่และพากันมาพบ รอง ผบช.น.ในวันนี้
"เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์สำหรับตัวผมเอง อยากฝากเตือนทุกๆ คนว่า ก่อนจะโพสต์อะไรลงในเฟซบุ๊ก ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างก่อน อย่าผลีผลามทำอะไรแบบผมเองจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน " นายกรวิทย์กล่าวในตอนท้ายและได้ขอโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำให้เสื่อมเสีย