ปคม.แถลงจับแก๊งลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวเขมรเข้ามาทำงานในประเทศ มีนายหน้าชาวเขมรเป็นผู้ดำเนินการ หลอกให้ทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว รีดค่าหัวคิวคนละ 3 พันบาท ก่อนพาขึ้นรถทัวร์ส่งแรงงานออกเป็น 3 สาย แต่ไปไม่รอดมาถูกจับกุมได้พร้อมแรงงานเขมร 43 คน
วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผบก.ปคม. พ.ต.อ.ยุทธภูมิ ปั้นลายนาค ผกก.2 บก.ปคม. แถลงข่าวการจับกุม น.ส.ณัฐภัทร ทันลา อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 282 หมู่ 2 ต.บางเลน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และนายสำ อวง อายุ 43 ปี สัญชาติกัมพูชา ข้อหาร่วมกันช่วยบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นการจับกุม และแรงงานชายหญิงชาวกัมพูชา 43 คน ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจับกุมได้ที่สี่แยกพนมสารคาม ถ.ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ชุดสืบสวน กก.2 บก.ปคม.นำโดย พ.ต.ท.ชูศักดิ์ เคทอง รอง ผกก.2 บก.ปคม. พ.ต.ท.ณัฐพสิษฐ์ เอกมฤเคนทร์ สว.กก.2 บก.ปคม. สืบทราบว่ามีขบวนการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (BORDER PASS) โดยมีนายหน้าชาวกัมพูชา 2 คนเป็นผู้ดำเนินการให้คิดค่าหัวคนละ 3,000 บาท เมื่อได้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวมาแล้วก็จะพาแรงงานกัมพูชาทั้งหมดเข้าประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว
เมื่อข้ามแดนมาแล้วนายหน้าชาวไทยจะมารับทั้งหมดไปขึ้นรถโดยสารประจำทางที่มี น.ส.ณัฐภัทร และนายสำ เป็นผู้ควบคุมดูแลมาถึงสถานีขนส่งกบินทร์บุรี จากนั้นได้ส่งแรงงานกัมพูชาทั้งหมดไปขึ้นรถโดยสารสายต่างๆ โดย น.ส.ณัฐภัทรเป็นผู้ซื้อตั๋วโดยสารให้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 สาย คือ 1. ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ 2. ราชสีมา-ระยอง และ 3. ราชสีมา-ชลบุรี เมื่อรถแต่ละสายออกเดินทางมาถึง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแสดงตัวขอตรวจสอบเอกสารพบว่าหนังสือผ่านแดนชั่วคราวนั้นอนุญาตให้อยู่ได้เฉพาะเขต จ.ปราจีนบุรี และสระแก้ว เท่านั้น จึงทำการจับกุมทั้งหมดมาดำเนินคดี
พล.ต.ต.ชวลิตกล่าวว่า คดีนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลักลอบนำแรงงานกัมพูชาหลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งจากพฤติการณ์ที่สืบทราบก็เชื่อว่าแรงงานกัมพูชาก็อาจจะถูกนายหน้าชาวกัมพูชาหลอกมาทอดหนึ่งเหมือนกัน โดยหนังสือผ่านแดนชั่วคราวนี้ถูกต้องตามกฎหมายแต่ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจริงๆ อยู่ที่ 700 บาท อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบหนังสือผ่านแดนชั่วคราวพบว่าบางรายมีชื่อ และอายุ ไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนของแรงงานกัมพูชา บางเล่มไม่มีวันเดือนปีเกิด