โฆษก ตร. แถลงผลการกวาดล้างอาชญากรรมในคดีสำคัญเป็นที่น่าพอใจ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนถือว่าลดลง ทั้งคดียาเสพติด-โจรกรรมรถ-ลักทรัพย์-ปล้น-ชิงทรัพย์ ขณะที่รอง ผบ.ตร.กำชับทุกหน่วยปราบปรามอบายมุขทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตู้ม้าไฟฟ้าต้องจริงจัง
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกตร. เปิดเผยถึงผลการสรุปสถานการณ์อาชญากรรมรอบ 6 เดือน ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 54 - 31 มี.ค.55 ตามสถิติคดีอาญา 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ เช่น ฆ่ากันตาย ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ เรียกค่าไถ่ วางเพลิง ซึ่งคดีกลุ่มนี้ปรากฏว่า จะเกิดขึ้น 1,792 คดี โดยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน 1,827 คดี ถือว่าลดลงกว่า 400 คดี ซึ่งคดีปล้น 166 คดี ปีที่แล้ว 176 คดี โดยมีพื้นที่รับแจ้งมากที่สุด คือ บช.ภ.8 ในแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พัทลุง ซึ่งมักเกิดช่วงระหว่าง 18.00-24.00 น.
2. คดีชีวิตร่างกาย และเพศ 6,756 คดี เปรียบเทียบในเวลาเดียวกันเกิดขึ้น 7,200 กว่าคดี ลดลงมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคดีข่มขืนเกิดขึ้นทั้งประเทศ 1,797 คดี ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้ว 2,000 กว่าคดี มักเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. ช่วงระหว่าง 18.00-24.00 น. เฉพาะเวลา 24.00-06.00 น.
3. คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ 21,419 คดี ลดลงกว่าในปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นมากกว่า 24,000 คคี โดยเกิดขึ้นพื้นที่ บช.น. และเป็นคดีลักทรัพย์ตามบ้านมากที่สุด เวลาเกิด 12.00-18.00 น. มักจะเกิดขึ้นในบ้านที่ไม่มีคนอยู่หรือระหว่างไปทำงาน
4 คดีที่หน้าสนใจ คือการโจรกรรมจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ โดยรถยนต์หายน้อยลงกว่าปีที่แล้ว แต่ยี่ห้อที่หายมากที่สุด คือ โตโยต้า รุ่นวีออส และยาริส ส่วนรถกระบะ คือ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์วีโก้ รองลงมายี่ห้ออีซูซุ ดีแมคซ์ ระหว่างเวลา 12.00-18.00 น. และจักรยานยนต์ที่หายมากที่สุด คือ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ รองลงมาคือยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นฟีโน่ เกิดมากที่สุดระหว่างเวลา 18.00-24.00 น.
5. คดียาเสพติดปีนี้มีการจับกุมมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 15 โดยปีนี้จับกุมได้ทั้งหมด 175,000 คดี ซึ่งที่ผ่านมาจับได้ 155,000 คดี โดยเฉพาะคดีรายใหญ่จับได้สูงมาก โดยส่วนใหญ่สถานที่เกิดเหตุอาชญากรรมมากที่สุด คือ ถนน ตรอก ซอย กว่าร้อยละ 80 รองลงมาบริเวณเคหสถาน ตลาด ศูนย์การค้า รวมกันร้อยละ 20 และสถานที่เสี่ยงภัยเกิดอาชญากรรม คือ สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลง สถานบริการสวนสาธารณะ โดยมีสาเหตุหลักทั้งหมด 4 สาเหตุ ได้แก่ ติดยาเสพติด เมาสุรา ทะเลาะวิวาท และชู้สาว ทั้งนี้สถานภาพอาชญากรรมโดยสรุปแล้วลดลงทุกกลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ปิยะยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันปราบปรามอบายมุขเป้าหมายว่า พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร.(ปป.1) ได้มีหนังสือสั่งการกำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับแหล่งอบายมุขเป้าหมาย โดยเฉพาะตู้ม้าไฟฟ้า เพื่อให้ป้องกันปราบปรามอบายมุขทุกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำชับการปฏิบัติ ดังนี้ เน้นย้ำหัวหน้าสถานีตำรวจต้องสืบสวนหาข่าว เข้มงวดกวดขันการสืบสวนปราบปราม จับกุมอบายมุขทุกประเภท โดยเฉพาะตู้ม้าไฟฟ้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และระดมกวาดล้างจับกุม ดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งความผิดอาญาและความผิดเกี่ยวกับศุลกากร รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัยจากตู้ม้าไฟฟ้าอย่างจริงจัง
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวต่อว่า ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช.ภ.และ บก.ภ.จว.ที่รับผิดชอบสั่งการ ควบคุม ดูแลตรวจสอบการปฏิบัติการด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด โดยจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตร.ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่ ตร.กำหนดอีกชั้นหนึ่ง