xs
xsm
sm
md
lg

ไฟฟ้าช็อต-ไฟดูด ภัยร้ายคร่าชีวิตคนน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
สถานการณ์น้ำท่วมที่ยังคงวิกฤตหนักอยู่ในขณะนี้ โดยกระแสมวลน้ำที่ได้แผ่ขยายวงกว้างไหลเข้าสู่กรุงเทพมหานครเกือบจะครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ได้สร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้ประสบภัย โดยได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว นั่นก็คือภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วออกมาจากสายไฟฟ้าแรงสูง ปลั๊กไฟ หรือแหล่งจ่ายไฟต่าง ๆ ที่จมน้ำ

ดั่งเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้สร้างความสลดใจและน่าจะเป็นอุทาหรณ์ในภาวะน้ำท่วม โดยสองพี่น้อง คือนายสกล เทิดฉิม อายุ 40 ปี กับนายพนิพัด เทิดฉิม อายุ 41 ปี นอนเสียชีวิต อยู่ข้างรถขาก๋วยเตี๋ยว ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ขณะที่เดินลุยน้ำที่ปริ่มอยู่ระดับหน้าอก โดยทั้งสองได้พากันเดินลุยน้ำออกมารับถุงยังชีพ เพื่อนำไปประทังชีวิต ซึ่งเมื่อได้รับถุงยังชีพคนละถุงแล้ว ทั้งสองพี่น้องได้ช่วยกันหอบอุ้มถุงยังชีพเดินฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว เดินกลับไปยังที่พัก โดย "นายสกล เทิดฉิม" ผู้เป็นน้องได้เอามือไปจับรถขายก๋วยเตี๋ยวที่จอดแช่น้ำอยู่บริเวณทางเดินผ่าน ซึ่งจังหวะนั่นเองนายสกลได้ถูกไฟดูดจนร้องเสียงดังก่อนจะล้มแน่นิ่ง ซึ่งนายพนิพัด เทิดฉิม พี่ชายที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงรีบเข้าไปกระชากร่างน้องชายออกมา จึงทำให้ถูกไฟดูดตายไปอีกคน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบว่ารถเข็นคันดังกล่าวจอดล้อตะแคงอยู่ในน้ำ และไปเกี่ยวกับสายไฟฟ้าแรงสูงจนเป็นเหตุให้ไฟรั่ว ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ 2 พี่น้องไปจับถูกเหล็กของตัวรถเข็น จึงทำให้ถูกไฟดูดเสียชีวิตทั้งคู่

ก่อนนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้งาน ควรตรวจสอบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ในสภาพปลอดภัย ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นไหม้ มีเสียงดังมาจากเครื่อง ให้หยุดใช้งานในทันที พร้อมนำไปให้ช่างผู้ชำนาญการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอย่าไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องถูกซ้ำเติมมากไปกว่านี้ ขอนำเสนอแนะวิธีเบื้องต้นในการป้องกันไฟฟ้าช็อตในกรณีน้ำท่วมบ้าน หากเป็นบ้านชั้นเดียว ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยยกสะพานไฟขึ้น ย้ายสวิตซ์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง ห่างจากระดับที่น้ำท่วมถึง พร้อมงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด

หากบ้าน 2 ชั้น ให้ดำเนินการแยกวงจรไฟฟ้าชั้นบนและชั้นล่างของบ้าน เพื่อปลดตัดกระแสไฟฟ้าบริเวณชั้นล่างของบ้าน และให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ชั้นบนของบ้านเท่านั้น "ห้ามใช้และสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะที่ตัวเปียกชื้น" ห้ามยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะหรือตัวแช่อยู่ในน้ำ

ห้ามนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งานเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ให้เพิ่มความระมัดระวังการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณที่ชื้นแฉะเป็นพิเศษ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล จะทำให้ได้รับอันตรายได้ และถ้าหากไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ห้ามซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดข้อผิดพลาดทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐมีความห่วงใยผู้ประสบภัยในชุมชนเมือง และ กทม. หวั่นเกรงว่าจะถูกไฟฟ้าช็อต หลังพบสถิติตายเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกือบ 6 เท่าตัว ภายใน 4 สัปดาห์ โดยจากข้อมูลผู้เสียชีวิตหลังจากเกิดน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม จนถึงวันนี้ขณะนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตทั้งหมด 366 ราย ซึ่งวิเคราะห์สาเหตุพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 86 มาจากการจมน้ำ รองลงมาได้แก่ ไฟฟ้าช็อตร้อยละ 6

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย และประชาชนต้องอยู่กับน้ำอย่างเสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย หน่วยงานภาครัฐได้เร่งประชาสัมพันธ์ พร้อมกับชี้แนะชุมชนปิดป้ายเตือนประชาชนไม่ให้เดิน หรือพายเรือเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟห้อยต่ำใกล้น้ำท่วม อีกทั้งในพื้นที่ที่ประชาชนไม่อพอพออกมา และมีบางพื้นที่ที่หน่วยงานรัฐยังไม่ได้ตัดกระแสไฟฟ้า แม้ว่าน้ำเข้าท่วมในเขตชุมชนเมืองและกทม. สูงแล้วก็ตาม โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีคนอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนะอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง

ที่สำคัญ ในการป้องกันไฟฟ้าช็อต ขอแนะนำให้ประชาชน และคนในชุมชนสำรวจว่ามีสายไฟแรงสูงที่ใดบ้างที่ห้อยต่ำใกล้ระดับน้ำท่วมถึง และปิดป้ายเตือนประชาชนไม่ให้เดินหรือพายเรือเข้าใกล้บริเวณนั้น ห้ามใช้และสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดขณะที่ตัวเปียกชื้น นอกจากนี้ เครื่องไฟฟ้าที่ย้ายไม่ทันและถูกน้ำท่วมไปแล้ว ควรหยุดใช้งานจนกว่าจะได้รับการตรวจสอบสภาพ หากพบเสาไฟฟ้าขาด เสาล้ม สายไฟฟ้าขาด หรือแช่อยู่ในน้ำอย่าเข้าใกล้ ต้องรีบแจ้งการไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่รีบแก้ไขโดยด่วน

ส่วนในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้บาดเจ็บไม่ได้สัมผัสกับสายไฟฟ้าหรือตัวนำไฟฟ้าใดๆ และตัดวงจรไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วย โดยผู้ที่เข้าไปช่วยร่างกายต้องไม่เปียกชื้น ไม่เปียกน้ำ ยืนบนที่แห้ง และสวมรองเท้า ไม่สัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตโดยตรง ให้ใช้ผ้าแห้งหรือเชือกดึงตัวออกมาจากจุดเกิดเหตุโดยเร็ว แล้วรีบปฐมพยาบาล ถ้าหยุดหายใจให้เป่าปากช่วยหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ให้นวดหัวใจ และรีบส่งโรงพยาบาลทันที หรือขอความช่วยเหลือหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหมายเลข 1669 แต่หากไม่มีความรู้ในการตัดกระแสไฟฟ้าหรือวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องให้รีบตามคนมาช่วยทันที

ขณะเดียวกัน ภัยใกล้ตัวในช่วงภาวะน้ำท่วมที่ประชาชนบางพื้นที่ได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ไปช่วยจับด่วน แต่พอไปถึงกลับไม่พบตามที่แจ้งเหตุ ดังนั้นเพื่อให้ผู้พบเห็นแน่ใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นจระเข้จริง ทางกรมประมงแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ ดังนี้
1. ขณะว่ายน้ำ จระเข้- ลำตัวนิ่ง มีเฉพาะส่วนหางเท่านั้นที่เคลื่อนไหว ส่วนตัวเงินตัวทองเคลื่อนไหวทั้งตัว เป็นรูปตัว S ระหว่างว่ายน้ำหัวจะมองซ้าย-ขวา ตลอดเวลา และแลบลิ้นเป็นระยะๆ
2. ขณะหยุดนิ่ง (ช่วงเวลาที่อยู่ในน้ำ) จระเข้- จะมีเฉพาะส่วนจมูก (ก้อนขี้หมา) และตาเท่านั้นที่โผล่เหนือน้ำ ส่วนตัวเงินตัวทอง สามารถมองเห็นส่วนหัวทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
3. บริเวณที่มักพบ จระเข้ พบได้ง่ายในเวลากลางคืน ส่วนตัวเงินตัวทองจะพบเห็นได้ทั้งวันตามแหล่งอาหาร โดยเฉพาะตามแหล่งอาหารที่เน่าเปื่อยหรือบริเวณต้นไม้ (เนื่องจากสามารถปีนต้นไม้ได้)

หากเราพบเจอจระเข้ช่วงกลางวันไม่ค่อยจะมีปัญหา เพราะถ้ามันเห็นคนก็จะตกใจและหนีไปเอง แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือช่วงเวลากลางคืน เพราะสัญชาตญาณจระเข้จะออกหากินในเวลากลางคืน จึงอยากเตือนประชาชนว่าตอนกลางคืนหากไม่จำเป็นไม่ควรเดินลุยน้ำเข้าไปในบริเวณพงหญ้าหรือกองไม้ ซึ่งเมื่อสังเกตจนมั่นใจแล้วว่าเป็นจระเข้ ขอให้ผู้พบเห็นรีบโทรแจ้ง ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมประมง โทร.02 -562-0546 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น