xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกา! ยกฟ้องนักวิชาการร้องระงับเลือกตั้ง 3 ก.ค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยกฟ้อง “ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก-นักวิชาการอิสระ” ร้องเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภา-สั่งระงับเลือกตั้ง 3 ก.ค.เหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ม.219

วันนี้ (6 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่ แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งยกคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ลต.4494/2554 ที่ พล.ต.ณพล คชแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภา และระงับการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.นี้ เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ โดยไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ กรณีเมื่อวันที่ 11 พ.ค.54 นายกฯได้ประชุมร่วมกับประธาน กกต.เพื่อกำหนดวิธีการและหลักการหาเสียง โดยไม่ให้กระทบกระเทือน หรืออ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการแทรกแซงการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของประธาน กกต.ซึ่งขณะที่การหารือดังกล่าวอาจเป็นการให้คุณหรือให้โทษกับพรรคการเมืองอื่น เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย รวมทั้ง กกต.ไม่คัดค้านที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่สละสัญชาติไทยถือสัญญาณมอนเตเนโกร ได้ใช้การโฟนอินกำหนดนโยบายให้พรรคเพื่อไทย และสมาชิกผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งทั้งก่อนและหลังที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา อีกทั้ง กกต.ยังไม่ดำเนินการใดๆ กับ นายเนวิน ชิดชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกุล นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเข้ามาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ

ภายหลัง นายสมคิด หอมเนตร หนึ่งในผู้ฟ้อง ซึ่งเดินทางมาฟังคำสั่ง กล่าวว่า ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา ซึ่งก่อนหน้านี้ตนก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ไม่รับคดีพิจารณา ซึ่งขณะที่วันนี้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีความเห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสาม ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.อย่างไรก็ดี ถือว่าตนได้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองอย่างดีที่สุด ซึ่งตามช่องทางกฎหมายเมื่อมีการวินิจฉัยอำนาจศาลชัดเจนแล้ว คงไม่มีทางอื่นที่จะยื่นฟ้องอีก แต่ถ้าหากจะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบคงต้องร้องเรียน ป.ป.ช.แต่กว่าที่จะดำเนินการคงใช้เวลานาน ซึ่งจะไม่ทันเวลาที่จัดเลือกตั้ง 3 ก.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น