“พงศพัศ” แถลงปิด ศอ.รส. ไม่ขอต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคง หลังสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ แต่มอบงานให้ ศปก.บช.น.เดินหน้าวางกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของการชุมนุมแทน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลทันทีกับผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกจ้องปองร้าย ส่วนผู้ที่คิดว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายสามารถขอกำลังตำรวจดูแลได้ เผย มี 10 จังหวัดแข่งขันดุ โดยส่งเจ้าหน้าที่ รปภ.เข้มแล้ว 4-5 จังหวัด
วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) แถลงปิดศูนย์ โดยเปิดเผยว่าตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. จนถึงวันนี้เป็นเวลา 105 วัน โดยวันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายหลังจากมีการประชุม ศอ.รส. มีมติไม่ขอคณะรัฐมนตรีต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงไปอีก เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้เข้าสู่ความสงบจึงไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งมั่นใจว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้กฎหมายปกติควบคุมสถานการณ์ได้
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้ยังมีการชุมนุมของบางกลุ่ม แต่ถือว่าสถานการณ์เบาบางลง อีกทั้งช่วงนี้เข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการใช้กฎหมายเลือกตั้ง โดยสามารถใช้ดูแลความสงบเรียบร้อยได้ ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีเหตุรุนแรง แต่ทั้งนี้การปิด ศอ.รส.ไม่ได้หมายความว่าภารกิจจะสิ้นสุดลง โดยงานในส่วนนี้จะมอบหมายให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เป็นผู้ดูแลต่อโดยเปิดเป็น ศปก.บช.น.เพื่อประเมินสถานการณ์ วางกำลังในการดูแลสถานที่ บุคคลสำคัญ รวมทั้งติดตามด้านการข่าวความเคลื่อนไหวในการชุมนุมต่อไป
ส่วนการติดตามการปราศรัยหาเสียงจะใช้กฎหมายเลือกตั้งจัดชุดคอยติดตาม โดยใช้กฎหมายเลือกตั้ง หากพบการกระทำผิดตำรวจจะดำเนินการตามปกติ แต่หากพบเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษจะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ
สำหรับการดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งและการลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.นั้น พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ลต.ตร.) ซึ่งมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.เป็นประธาน ได้มีการประชุมติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่ทุกวัน โดยขณะนี้มีข้อมูลระดับหนึ่ง ซึ่งในวันนี้มีการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะให้ตำรวจที่ดูแลทุกส่วนลงพื้นที่ เพื่อประเมินความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ โดยได้มอบหมายภารกิจหลักใน 2 ส่วน คือ ให้ติดตามว่าแต่ละพื้นที่มีการแข่งขันกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และในแต่ละพื้นที่ต้องใช้กำลังหรือไม่ เท่าไร และให้ติดตามว่าผู้ลงสมัครเลือกตั้งถูกประทุษร้าย มีความรุนแรงหรือไม่ พร้อมประเมินว่าผู้ลงสมัคร ส.ส.อยู่ในอันตรายหรือไม่ หากพบว่ามีการถูกปองร้าย ทาง ตร.จะจัดเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบที่ผ่านการอบรมพิเศษไปดูแลทันทีโดยไม่ต้องร้องขอ หรือหากผู้สมัคร ส.ส.รายใดที่คิดว่าตนเองไม่ปลอดภัยสามารถขอกำลังตำรวจไปดูแลได้ โดยกำลังที่ใช้มีการผลัดเปลี่ยนตลอด ซึ่งจะไม่ใช้กำลังตำรวจที่ใกล้ชิดกับผู้ร้องขอ โดยผู้บังคับการจังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นผู้ดูแลและอนุมัติกำลัง ซึ่งคาดว่ากำลังจะเพียงพอ เพราะได้เตรียมไว้ภาคละ 150 นาย
ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า จากการประเมินล่าสุดพบว่าจังหวัดที่มีสถานการณ์แข่งขันรุนแรงมีประมาณ 10 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการจัดกำลังไปดูแลแล้วมี 4-5 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี และใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนอกจากผู้ลงสมัครทางตำรวจก็จะดูแลในหลายระดับ รวมทั้งหัวคะแนนหากคิดว่าต้องร้องขอความคุ้มครองก็จะส่งกำลังไปดูแลด้วย ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) เวลา 13.30 น. ศรส.ลต.ตร.จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีการจัดกำลังไปดูแลอยู่แล้ว ยังไม่มีการร้องขออะไรเพิ่มเติม ซึ่งเพียงเน้นย้ำให้ดูแลป้ายหาเสียงที่ตอนนี้พบว่ามีการถูกทำลายไปจำนวนมาก และการจัดกำลังดูแลผู้ลงสมัคร ส.ส. ในการลงพื้นที่บางแห่งที่อาจมีผู้ประท้วงขับไล่