การดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อื้อฉาว ถือเป็นประเด็นร้อนที่สังคมเฝ้าติดตาม หลังจากกองวินัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องได้รวบรวมข้อมูล เสนอไปยังกองกำลังพล พร้อมชี้ชัดว่ากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไของค์ประกอบตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นการเริ่มกระบวนการถอดยศอย่างเป็นทางการ
สำหรับปฐมบทของเรื่องนี้เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122 ขณะเดียวกันยังเป็นนักโทษหลบหนีคดีอาญา
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) หรือเทียบเท่าชั้น"เจ้าพระยา"ที่ได้รับพระราชทานคืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548
นอกจากนี้ยังเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ถูกถอดยศ "พ.ต.ท."ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 โดยระเบียบดังกล่าวระบุเหตุผลว่า "เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป”
จากระเบียบดังกล่าวจะเห็นว่า พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไขในการ "ถอดยศ" ถึง 2 ข้อด้วยกัน คือ
หนึ่ง ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
สอง ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ มีข้าราชการตำรวจนอกแถวจำนวนไม่น้อยที่ถูกถอดยศ จากการสืบค้นจากประกาศราชกิจจานุเบกษาพบว่านายตำรวจชั้นสัญญาบัตรนายแรกที่ถูกถอดยศ คือ พ.ต.ต.หลวงพิศนุแสน(สุด ประทีปจิต)ซึ่งถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 11 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานยักยอกเงินของกรมตำรวจนครบาลถูกถอดยศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 หลังจากนั้นก็มีตำรวจถูกถอดยศกว่า 100 นาย ในจำนวนนี้มีตำรวจยศพล.ต.จ.(พลตำรวจจัตวา เทียบเท่าพ.ต.อ.พิเศษ ปัจจุบันไม่มีแล้ว) 2 นาย คือ พล.ต.จ. ทม จิตรวิมล และ"พล.ต.จ. ผาด ตุงคะสมิต ประจำกรมตำรวจ ก่อเหตุฆ่า 4 รัฐมนตรี ศัตรูทางการเมืองของจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ถอดยศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2505
หลังมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศ พ.ศ.2547 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2547 ซึ่งระเบียบดังกล่าวลงนามโดย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร.ในสมัยนั้น ตรงกับสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 มีข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรถูกถอดยศไปแล้วทั้งสิ้น 62 นาย เฉลี่ยปีละ กว่า 10 นาย แยกเป็นนายตำรวจระดับ พ.ต.ท. 16 นาย พ.ต.ต. 12 นาย ร.ต.อ. 24 นาย ร.ต.ท.9 นาย และร.ต.ต. 1 นาย
ส่วนวันนี้ การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องมันไปถึงไหน
ย้อนไป 26 ต.ค.2552 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)เรื่อง แนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
โดยหนังสือดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ รวมไปถึงการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548
28 ต.ค.2552 พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจง การถอดยศเป็นวาระปกติที่สำนักงานกำลังพล ต้องดำเนินการปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนเมษายน และ ตุลาคม แต่การดำเนินการนั้นต้องทำในภาพรวม เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมามีข้าราชการตำรวจจำนวนไม่น้อยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร เนื่องจากมีหลายกรณีที่ ตร.จะดำเนินการถอดยศไปพร้อมๆกัน
6 พ.ย.2552 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.)พูดหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าได้ส่งเรื่องให้สำนักงานกำลังพลเพื่อดำเนินการรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและระเบียบการถอดยศ
โดยวันนั้น พล.ต.อ.ปทีป กล่าวว่า ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเนื่องจากเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเอกสารเก่าประมาณ 5-6 ปีแล้วรวมทั้งระบบราชการมีการดำเนินการที่ล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม จะพยายามดูแลให้รวดเร็วที่สุด จากนั้นจะส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ล่าสุด 26 ม.ค.2553 พล.ต.ต.โชติกร สีมันตร ผู้บังคับการกองทะเบียนพล ตอบคำถามเรื่องถอดยศ"ทักษิณ ชินวัตร"ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาในข้อกฎหมายและรายละเอียดต่างๆ จากสำนักงานกฎหมายและคดี ซึ่งหากเรื่องส่งกลับมาถึงทางกองกำลังพลจะเร่งดำเนินการเพื่อเสนอ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.พิจารณา ก่อนส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ดำเนินการต่อ ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการในส่วนของ ตร.จะเสร็จสิ้นทันเดือน เม.ย.2553
"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุม เพราะหากเกิดความผิดพลาด ก็จะส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม ซึ่งที่ผ่านมาทางกองทะเบียนพลไม่ได้มีการดึงเรื่อง เราทำไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง"
การถอดยศกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ แม้จะเคยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อทำผิดกฎหมาย และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก การถูกถอดยศจึงเป็นชะตากรรมที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนข้าราชการตำรวจนอกแถวที่ถูกถอดยศไปก่อนหน้านี้