xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.ใช้เครื่องอัลฟา 6 จับแก๊งค้ายาแทนสุนัขดมกลิ่น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ป.ป.ส. ยัน ศักยภาพเครื่องอัลฟ่า 6 นำพาตรวจจับนักค้ายาเสพติดได้ผลดีเกินคาด มีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 70 และราคาไม่แพง โดยจะใช้แทนสุนัขดมกลิ่น เนื่องจากสุนัขมีข้อจำกัดสูง



วันนี้ (27 ม.ค.) พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวถึงประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือตรวจหาสารเสพติดชนิดพกพา ว่า ป.ป.ส.ไม่มีการใช้เครื่อง GT 200 แต่ใช้เครื่อง ALPHA 6 (อัลฟา-ซิกซ์) ซึ่งมีประสิทธิภาพตรวจค้นเฉพาะยาเสพติด โดยกำหนดสเปกทีโออาร์ในการจัดซื้อไว้ให้ตรวจสารเสพติด 6 ชนิด ได้แก่ เฮโรฮีน ยาบ้า ยาไอซ์ โคเคน กัญชา และกระท่อม เครื่องอัลฟา 6 ซึ่งจะไม่สามารถตรวจค้นระเบิดได้เหมือนจีที 200

สำหรับ ป.ป.ส.มีเครื่องอัลฟา 6 อยู่ 15 เครื่อง จัดซื้อเครื่องละกว่า 400,000 บาท และอยู่ระหว่างจัดซื้ออีก 15 เครื่อง เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งสามารถตรวจจับยาเสพติดได้หลายครั้ง โดยมีผลงานตรวจจับยาบ้า 176,000 เม็ด และยาไอซ์ 14 กิโลกรัม ซึ่งซุกซ่อนไว้ที่บังโคลนล้อหน้ารถยนต์ ที่ จ.เชียงราย และจับยาบ้า 140,000 เม็ดที่ซุกซ่อนในกล่องกระดาษและท่อพีวีซีที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากสถิติพบว่าอัลฟ่า 6 มีประสิทธิภาพแม่นยำกว่าร้อยละ 70

พล.ต.ท.กฤษณะ กล่าวต่อไปว่า เครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 และเครื่องตรวจยาเสพติดอัลฟ่า 6 มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพช่วยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายได้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องฟังความเห็นของผู้ใช้งานว่าได้ผลหรือไม่อย่างไร เพราะมีผลต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน แต่ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าเครื่องนี้มีความจำเป็นและเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานในพื้นที่เสี่ยง พร้อมยืนยันอีกว่า ทั้ง 2 เครื่องนี้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อขยายผลตรวจจับสิ่งผิดกฎหมายต่อไป

“เครื่องอัลฟา 6 เป็นเครื่องที่ผลิตจากประเทศอังกฤษ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับจีที 200 แต่มีราคาที่ถูกกว่า ซึ่ง ป.ป.ส.จัดซื้อตามความจำเป็นที่ต้องการ เพื่อตรวจหาสารเสพติดจึงเลือกใช้อัลฟา 6 โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการคิดค้นเสมอ เพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้สุนัขดมกลิ่นที่มีข้อจำกัดสูง โดยสุนัขต้องทำงานอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นที่ผ่านมาต้องนำสุนัขเดินทางไปดมกลิ่นค้นหายาเสพติดในพื้นที่ห่างไกล พบว่าสุนัขเมารถและไม่สามารถปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ สุนัขยังมีสมาธิสั้น มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสูง ที่ผ่านมาไม่มีเทคโนโลยีช่วย จึงจำเป็นต้องใช้สุนัขดมกลิ่นตามจับ” เลขาฯ ป.ป.ส.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น