xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจพิจารณาคดีของศาลจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อำนาจพิจารณาคดีของศาลจังหวัด

โดย นายสราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม


ในวันพุธที่ 13 มกราคม 2553 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จะทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และทรงเปิดอาคารที่ทำการศาลจังหวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่เดิมศาลจังหวัดตลิ่งชันเป็นศาลแขวงสาขาของศาลแขวงธนบุรี และต่อมาได้มีการแบ่งอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีบางส่วนออกไปกลายเป็นศาลแขวงตลิ่งชัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณคดีที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงมีการยกศาลแขวงตลิ่งชันขึ้นเป็นศาลจังหวัด ตามพระราชบัญญัติยกฐานะศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลแขวงปทุมวันและศาลแขวงพระโขนงเป็นศาลจังหวัด พ.ศ. 2549 เพื่อแบ่งเบาปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้นของศาลอื่นๆในกรุงเทพมหานคร ให้สามารถบริหารจัดการคดีอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้มีคดีความในศาล

การเปลี่ยนแปลงจากศาลแขวงตลิ่งชัน เป็นศาลจังหวัดตลิ่งชัน ไม่ใช่เป็นเรื่องการยกฐานะของเขตหรืออำเภอให้เป็นเขตการปกครองในระดับจังหวัด แต่เป็นการเปลี่ยนเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ศาลจังหวัดและศาลแขวงก่อนศาลจังหวัด เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่นศาลแขวง เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท และพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื่องจากปริมาณคดีส่วนมากที่มีการฟ้องไปยังศาลชั้นต้นนั้นเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป ที่มีการฟ้องร้องไปยังศาลชั้นต้นที่มีอยู่ทุกท้องที่ของประเทศ จึงได้มีการแบ่งเขตอำนาจศาลแต่ละศาลออกไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นการแบ่งเบาภาระของศาลให้มีปริมาณคดีที่รับผิดชอบในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถทำการพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จไปได้โดยรวดเร็ว และเป็นธรรม

ในแต่ละจังหวัดจึงมีการจัดตั้งศาลจังหวัดขึ้นอย่างน้อย 1 ศาล และในบางจังหวัดก็มีศาลจังหวัดตั้งอยู่เกิน 1 ศาล โดยมีศาลจังหวัดส่วนหนึ่งไปตั้งอยู่ที่อำเภออื่นนอกอำเภอเมืองของจังหวัดนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่อยู่ในอำเภอที่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก เช่นจังหวัดนครศรีธรรมราชมีศาลจังหวัด 3 ศาล คือศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดปากพนัง และศาลจังหวัดทุ่งสง เป็นต้น

นอกจากศาลจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในอำเภอเมืองแล้ว ยังมีบางศาลที่ได้เปิดศาลสาขาขึ้นในเขตอำนาจของศาลนั้นๆด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสำหรับบางพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลและอยู่ในอำเภอที่ห่างไกลจากศาลจังหวัด ให้ไม่ต้องเดินทางไกล และสามารถยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอตลอดจนดำเนินกระบวนพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีที่ศาลสาขาได้จนเสร็จคดี ซึ่งในปัจจุบันมีศาลสาขาทั้งสิ้น 5 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ปาย) ศาลแขวงนครราชสีมา (พิมาย) ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) ศาลจังหวัดน่าน (ปัว) และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (มีนบุรี)

ศาลจังหวัดไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงศาลที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ในเขตกรุงเทพมหานครปัจจุบันมีศาลจังหวัด 3 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลจังหวัดพระโขนงและศาลจังหวัดตลิ่งชัน

ศาลจังหวัดมีนบุรีมีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และเขตลาดกระบังศาลจังหวัดพระโขนงมีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่เขตบางนา เขตประเวศ เขตพระโขนง และเขตสวนหลวง

ศาลจังหวัดตลิ่งชันมีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตบางพลัด และเขตหนองแขม

ศาลจังหวัดที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้ง 3 ศาลต่างก็เป็นศาลที่ยกระดับขึ้นจากศาลแขวง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้น และสามารถพิจารณาพิพากษาคดีที่เดิมเคยจำกัดอยู่แต่เพียงคดีเล็กน้อย เนื่องจากมีอำนาจจำกัดเพราะเป็นเพียงศาลแขวง เมื่อได้รับการยกฐานะเป็นศาลจังหวัดก็ทำให้สามารถพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงได้ เพื่อลดปริมาณคดีในศาลที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครอื่นๆ ให้สามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น

ดังนั้น ในการกำหนดเขตอำนาจศาลว่าศาลจังหวัดแต่ละศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดนั้นจึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลจาก พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ปริมาณคดี และระยะทางและความสะดวกทางการเดินทางมาศาลของประชาชน ให้สมดังนโยบายของศาลยุติธรรมในการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคมด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมและทั่วถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น