xs
xsm
sm
md
lg

นครบาลตื่นขอข้อมูลสำรวจ ตร. ทำงานช้ามาปรับใช้กับงาน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.ประจำ บช.น. ในฐานะโฆษก บช.น
นครบาลประสานขอข้อมูลเชิงลึกผลสำรวจตำรวจเข้าระงับเหตุช้าของเอแบคโพลล์ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงาน เผยโรงพักชนะสงครามถึงที่เกิดเหตุเร็วสุด 2 นาที ส่วนช้าสุดเป็นโรงพักหลักสองใช้เวลา 16 นาที เพราะตั้งอยู่ไกลปืนเที่ยง จากขีดเส้นไว้ไม่ควรเกิน 15 นาที ชี้ ผลสำรวจประเมินเพียงด้านเดียวกับประชาชนที่ไม่ได้สัมผัสเหตุการณ์จริง

วันนี้ (6 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.ประจำ บช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สมนึก น้อยคง ผกก.ศทส. และพ.ต.ต.หญิง ทัสสนีย์ ภิรมณ์แก้ว สว.บก.น.6 ร่วมกันแถลงข่าวหลังจากที่มีผลการสำรวจของเอแบคโพลล์เกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เวลานานกว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุ ว่า พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น. ได้สั่งให้ ผกก.ฝอ.5 บก.อก.บช.น. ให้หาข้อมูลรายละเอียดของการสำรวจ โดยการขอข้อมูลจากผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ที่สำรวจมาปรับปรุงแก้ไขในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อไปว่า โดยรวมของการเข้าระงับเหตุในพื้นที่ของ บช.น.ทั้งหมด 88 สถานี ใช้เวลาในการเข้าระงับเหตุเฉลี่ย 7.1 นาที สถานีตำรวจที่ใช้เวลาเร็วที่สุดคือ สน.ชนะสงคราม ใช้เวลาไปถึงจุดเกิดเหตุ 2 นาที และช้าที่สุด คือ สน.หลักสอง ใช้เวลา 16 นาที แต่ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่สน.ตั้งอยู่ไกล และอยู่ในพื้นที่รอบนอก ซึ่งปกติแล้วจะมีการกำหนดเวลาเอาไว้ว่าไม่ควรเกิน 15 นาที และจากคำถามที่สอบถามประชาชนในการทำแบบสำรวจนั้น เช่น ประชาชนรู้สึกอย่างไรในการเข้าไประงับเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น โดยบางครั้งตัวอย่างที่สอบถามนั้นไม่ได้ประเมินจากผู้ที่เคยเกิดเหตุ แต่สำรวจประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งบางครั้งในการทำแบบสอบถามผู้ทำอาจใช้ความรู้สึกในการประเมิน

โฆษก บช.น.กล่าวอีกว่า หลังจากที่สถานีวิทยุ สวพ.91 ออกมาเตือนเหตุการณ์ก่อเหตุอาชญากรรมนั้น ถือเป็นข้อมูลที่ดี แต่ข้อมูลที่ได้นำมาเปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลเฉพาะการโทรเข้าไปแจ้งยังสถานีดังกล่าวจากประชาชนเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงการเปิดเผยสถิติเฉพาะของสถานีดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วข้อมูลสถิติเหล่านี้มักมีการเปิดเผยเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น ดังเช่นที่สถานีดังกล่าวนำสถิติออกมาเปิดเผย สำหรับเรื่องดังกล่าวที่นำมาเปิดเผยนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีสายตรวจจำนวน 12,000 นาย ตรวจดูความเรียบร้อยเสมอ โดยสถิติภาพรวมของ บช.น. ในปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. คดีลดลง มีเพียงคดีลักทรัพย์เคหะฯ เท่านั้น ที่มีคดีเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 1 คดี เช่น ปี 2551 คดีลักรถจักรยานยนต์ รับแจ้ง 2,300 คดี จับ 94 คดี ปี 2552 คดีลักรถจักรยานยนต์ รับแจ้ง 15,918 คดี จับ 79 คดี ปี 2551 คดีลักรถยนต์ รับแจ้ง 314 คดี จับ19 คดี ปี 2552 คดีลักรถยนต์ รับแจ้ง 272 คดี จับ 12 คดี เป็นต้น

“จะมีการเร่งรัดคดีทุกสัปดาห์โดยเฉพาะคดีที่สำคัญ โดยให้ ผกก.สน.ทุกสถานี เป็นผู้เข้ามาชี้แจงรายละเอียดของคดีเองและให้ออกหมายจับภายใน 7 วัน หากครบ 1 เดือน ยังไม่สามารถจับกุมได้นั้น จะให้ ผบก.และผกก.สน.เข้ามารายงานผลเอง และในสัปดาห์หน้าจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเริ่มจาก ปจ.หญิงก่อน เพื่อเป็นการฝึกซ้อมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว

โฆษก บช.น.กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดูแลความเรียบร้อยงานวันเด็กแห่งชาติ ปี 2553 ในเบื้องต้นสถานที่จัดงานใหญ่อยู่ที่สนามกีฬาศุภชลาศัย โดยจะใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลความเรียบร้อยภายในงานดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเด็กที่มาร่วมงาน และได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าดูแลสถานที่จัดงานต่างๆ ภายในกรุงเทพมหานครทั้งหมด ซึ่งจะใช้แผนธันวา 52 ในการดูแลความเรียบร้อย สำหรับกระทรวงต่างๆ ที่จัดงานต้องการขอเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขอให้ทำหนังสือมา เพื่อส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลตามที่ร้องขอมา

ด้าน พ.ต.อ.สมนึก กล่าวว่า การโทร.เข้าแจ้งความของประชาชนต่อหนึ่งวัน มีประมาณ 17,000 สาย ประกอบด้วยโทรมาก่อกวน 9,000-10,000 สาย แจ้งเหตุจริง 3,000 สาย และ โทรเข้ามาสอบถามข้อมูลการเดินทาง 3,000 สาย โดยในส่วนที่มีการโทร.มาเล่นหรือแจ้งเท็จนั้น ได้ไปประชาสัมพันธ์กับโรงเรียนบางแห่งบ้างแล้ว และทำให้การโทร.มาแจ้งเท็จนั้นลดลงบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น