ผู้คนสังคมไทยยุคนี้เปรียบเสมือนกำลังเดินอยู่บนเส้นด้าย พร้อม “อยู่” และ “ตาย” จากภัยคุกคามของเหล่าอาชญากรได้ตลอดเวลา... ใน 1 วัน ที่ เรา และ คนร้าย มีลมหายใจอยู่ 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน แต่ วิถีการดำเนินชีวิตของ “คนจ้อง” กับ “คนระวัง” นั้น ต่างกันราวฟ้ากับเหว!
ที่ผ่านมาบรรดาอาชญากรกลุ่มต่างๆ มักสรรหายุทธวิธีสารพัดมาดำเนินแผนประทุษกรรมเพื่อใช้ในการก่อเหตุ เราจึงได้เห็นข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องราวของ เหยื่อ! ซึ่งถูกล่วงละเมิดสิทธิทั้งด้าน “ชีวิต” และ “ทรัพย์สิน” อย่างหลากหลายไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน คล้ายเป็นการตอกย้ำให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริงว่า ภัยร้ายนานาชนิดเกิดขึ้นกับ “ผู้บริสุทธิ์” ถี่ขึ้น สวนทางกับสถิติการจับกุมคนร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ!?!
มิหนำซ้ำในบางกรณี “ตำรวจ” ก็กลายเป็นเสือสิ้นลาย เพราะพลาดท่าตกเป็นเหยื่อของ “คนร้าย” ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปเสียเอง!!!
ด้วยเหตุนี้ผู้บังคับบัญชาองค์กรตำรวจทุกยุคทุกสมัย จึงต้องหามาตรการเชิงรุกมาใช้ในการปรับแผนจัดการกำลังพลที่มีอยู่แค่ประมาณ 200,000 นาย“ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ทั่วประเทศ ไว้คอยปฏิบัติหน้าที่เป็นบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนเกือบ 70 ล้านคน ให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ตลอดจนหาวิธีป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับกำลังพล จากการต่อกรกับเหล่าอาชญากรให้ได้ในทุกกรณี!
ในฐานะนายตำรวจ “นักบู๊” ผู้มีประสบการณ์ด้านปราบปรามอาชญากรมาอย่างโชกโชนอีกท่านหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว ผบก.น.9 เจ้าของฉายา “เจ้าสัว ทันควัน” จึงมีความคิดก่อตั้ง “ชุดปฏิบัติการจู่โจมสลาตัน 2009” ขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนกำลังหลักในพื้นที่ 10 โรงพัก และใช้สำหรับภารกิจพิเศษด้านการต่อกรกับกลุ่มวายร้ายที่มีศักยภาพในการคุกคามชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนค่อนข้างสูง
พล.ต.ต.กรีรินทร์ ให้สัมภาษณ์กับเหยี่ยวข่าวสาวของ Manager Online ถึงที่มาของ ชุดปฏิบัติการฯ ชุดนี้ว่า สำหรับชื่อ ชุดปฏิบัติการจู่โจมสลาตัน 2009 นั้น ไม่ได้ต้องการจะตั้งให้ชื่อมันล้าสมัยเพราะนี่ก็ใกล้เข้าสู่ ค.ศ.2010 แล้ว แต่ชื่อนี้เกิดจากความหมายของ คำว่า “สลาตัน 2009” คือตัวเลข 20 กับตัวเลข 09 ที่แยกกันสื่อถึงผลลัพธ์สำคัญดังนี้ “20” ในทางราชการตำรวจแปลได้ว่า “หัวหน้าสายตรวจหรือรถของหัวหน้าสายตรวจ” ส่วน “09” นั่นคือ “บก.น.9” เพราะฉะนั้นไม่ว่าหลังจากนี้ผมจะย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ไหน หรือกำลังพลของชุดเฉพาะกิจชุดนี้จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปกี่ชุดแล้วก็ตาม แต่คำว่า “สลาตัน 2009” จะถูกฝังอยู่ในความทรงจำของประชาชนว่า นี่คือ ชุดจู่โจมของ บก.น.9 เท่านั้น
สำหรับวิธีการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้าเป็นกำลังพลของชุดจู่โจมชุดนี้ ผมได้วางแนวทางเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่า จะต้องดูที่ความสมัครใจ ประกอบกับความสามารถและบุคลิกท่าทางเป็นหลัก ที่สำคัญชุดจู่โจมทุกนายต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเนื่องจากหน้าที่พิเศษในบางภารกิจอาจต้องสั่งการให้คนที่มีความรู้ไปปฏิบัติเท่านั้น ในเรื่องกำลังพลเราใช้ข้าราชการตำรวจในสังกัด บก.น.9 ทั้งสัญญาบัตรและประทวน จำนวน 10 โรงพัก โรงพักละ 3-5 คน ทีแรกมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ามาประมาณ 50 คน แต่เมื่อเอามาเคี่ยวเข็นทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจอย่างหนักแล้ว ขณะนี้มีเหลืออยู่ จำนวน 30 คน
“โดยกำลังพลที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดนี้ผมได้ส่งตัวให้เข้าไปรับการฝึกทางยุทธวิธีการต่อสู้ การขับรถตามยุทธวิธี และการใช้อาวุธพิเศษ จากครูฝึกชั้นยอดของตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีการส่งไปอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตรการเจรจาต่อรองขั้นวิกฤติ การบุกเข้าชิงตัวประกัน และชั้นเชิงการบุกเข้าตรวจค้นเป้าหมายตามลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้จะมีการฝึกทบทวนตามวงรอบทุกๆ วัน เพราะเรามีหัวหน้าชุดที่เคยเป็นครูฝึก และเคยประจำการอยู่หน่วยนเรศวน 261 มาก่อน โดยเป้าหมายต่อไปในอนาคตอันใกล้ผมกำลังจะส่งชุดปฏิบัติการจู่โจมสลาตัน 2009 ไปอบรมหลักสูตรการอารักขาคุ้มครองบุคคลสำคัญ หรือหลักสูตรสำหรับการเป็นบอดี้การ์ด คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้บุคคลวีไอพี นั่นเอง”
ส่วนที่ตั้งของชุดปฏิบัติการจู่โจมสลาตัน 2009 จะอยู่ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 เรามีที่พักให้และการทำงานจะขึ้นตรงกับ ผบก.น.9 เป็นผู้สั่งการ โดยยุทโธปกรณ์ของชุดเฉพาะกิจชุดนี้ก็จะมีรถยนต์ตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถกระบะตรวจการณ์ 1 คัน ในรถแต่ละคันจะมีอาวุธปืน M 16 และ อาวุธปืนลูกซองปั๊มแอคชั่นแบบ 5 นัด พร้อมกระสุนจริงและกระสุนยาง เตรียมไว้ให้พร้อม ซึ่งกำลังพลที่มีอยู่ 30 นายนี้ จะต้องพกพาปืนสั้นประจำกายติดเอวไว้เสมอ และคอยสับเปลี่ยนกันมาเข้าเวรตามวงรอบ ผลัดละ 3 ชุด ชุดละ 3 คน ต่อรถตรวจการณ์ 1 คัน หมุนเวียนกันไปผลัดละ 8 ชั่วโมง แต่ในช่วงเทศกาลหรือหากมีภารกิจพิเศษเร่งด่วน ผบก.น.9 ก็สามารถสั่งการให้กำลังพลทุกชุดและรถตรวจการณ์ทุกคันออกปฏิบัติหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือได้อย่างรวดเร็วทันควันตลอด 24 ชั่วโมง
หลายคนอาจสงสัยว่าที่ผ่านมาเคยเห็นชุดจู่โจม ของกองบังคับการอื่นๆ ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อสื่อความหมายของการเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วได้จริงๆ เหตุใด??? ชุดจู่โจม ของ บก.น.9 ต้องนั่งรถยนต์ตรวจการณ์ไปทำงาน ดูเป็นการข้ามหน้าข้ามตาชุดจู่โจม ชุดอื่นๆ มากไปหรือไม่? เรื่องนี้ พล.ต.ต.กรีรินทร์ ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า เนื่องจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 9 มีพื้นที่กว้างและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งอุดมไปด้วยโรงงาน มีถนนสายหลักตัดผ่านหลายสาย มีป่าชายเลน และติดกับชายทะเล ประกอบกับพื้นที่เป็นรอยต่อออกสู่ต่างจังหวัด จึงเป็นเรื่องยากที่ชุดจู่โจม จะใช้รถจักรยานยนต์ในการทำงาน เพราะนอกจากไม่ทันเวลาแล้วอาจทำให้ง่ายต่อการถูกซุ่มโจมตีด้วย การที่เราใช้รถยนต์และรถกระบะตรวจการณ์นั้น ทำให้เรามีพื้นที่เก็บสัมภาระ อาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนขนกำลังพลไปได้มากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของเราที่หน่วยอื่นๆ เขายังไม่มี
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา พล.ต.ต.กรีรินทร์ ได้ทำพิธีปล่อยแถวระดมป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในช่วงวันคริสต์มาสและเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2553 ไปแล้วโดยมีกำลังตำรวจสายตรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และอาสาสมัครภาคประชาชน จากทั้ง 10 สน.ในพื้นที่ บก.น.9 จำนวนกว่า 500 นาย นำยานพาหนะรถยนต์ตรวจการณ์ และ รถ จยย.เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพียง ทั้งนี้ยังได้ถือโอกาสเปิดตัว “ชุดปฏิบัติการจู่โจมสลาตัน 2009”ชุดนี้ ต่อหน้าสาธารณชนไปแล้วอย่างเป็นทางการ
เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ “เจ้าสัว ทันควัน” ทำเพื่อประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ!