โฆษก ตร.นำทีม ตรวจจุดเสี่ยงในเขตพื้นที่บางเขน พบ 2 จุดเสี่ยง เคยเกิดคดีข่มขืนและวิ่งราวทรัพย์ มีทั้งพื้นที่รกร้างหญ้าปกคลุม และป้ายรถเมล์ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ พรุ่งนี้ (12 พ.ย.) เตรียมหารือ ผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขปัญหาเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
วานนี้ (11 พ.ย.) เมื่อเวลา 22.30 น. พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รอง ผบช.น. พ.ต.อ.พัฒนา เพศยนาวิน ผกก.สน.บางเขน และเจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.บางเขน ได้ออกตรวจจุดล่อแหลมที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรมในเขตพื้นที่ สน.บางเขน โดยจุดแรกอยุ่บริเวณอุโมงค์ทหารราบที่ 11 ด้านหลังวัดบางบัว ถนนเรียบคลองบางบัว ข้างกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ซึ่งบริเวณหลังวัดเป็นซอยเปลี่ยว มีพื้นที่รกร้างหญ้าขึ้นปกคลุมหนาทึบ และไม่มีแสงสว่าง ไม่มีรถผ่าน เคยเป็นจุดที่มีปัญหาเกี่ยวกับคดีข่มขืนกระทำชำเรา
จุดที่ 2 อยู่บริเวณป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยศรีปทุม แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็นจุดที่มีสะพานลอยคนข้าม มีป้ายรถเมล์ และทางเดิน โดยจุดดังกล่าวเป็นจุดที่มืดไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างตามข้างทาง และเคยเกิดปัญหาเกี่ยวกับคดีวิ่งราวทรัพย์ถึง 3 ครั้ง โดย พล.ต.ท.พงศพัศ เปิดเผยว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีการกำหนดพื้นที่จุดเสี่ยงใน กทม.ทั้งหมด 5,365 จุด โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าวทั่วทั้ง กทม.
พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าในเขตพื้นที่บางเขนมีจุดเสี่ยงกว่า 300 จุด โดยวันนี้ได้ออกตรวจจุดเสี่ยงในเขตพื้นที่บางเขน 2 จุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดปัญหาอาชญากรรมแล้วทั้งสิ้น นวันพรุ่งนี้จะนำปัญหาที่ตรวจจุดเสี่ยงต่างๆ เข้าหารือกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหามาตรการร่วมกันในการดูแลปัญหาอาชญากรรมอย่างเต็มที่ อาทิ การเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณป้ายรถประจำทางที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ และการถางพื้นที่รกร้างที่อาจใช้เป็นที่หลบซ่อนของคนร้ายในการก่อเหตุได้ นอกจากนี้จะขอให้ กทม.ติดตั้งกล้องซีซีทีวีในจุดเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมและปัญหาการจราจร คาดว่า กทม.ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเงินที่จะนำมาซื้อก็เป็นเงินภาษีของประชาชน และทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก
“ส่วนปัญหาอาชญากรรมขณะนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การประทุษร้ายต่อร่างกายและเพศ ส่วนที่สอง เกี่ยวกับทรัพย์ คือ วิ่งราวทรัพย์ที่ยังคงเป็นปัญหาพื้นฐาน ทั้งนี้ การเฝ้าดูแลปัญหาอาชญากรรมในขณะนี้ ได้จัดตำรวจสายตรวจของพื้นที่ต่างๆ คอยดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และในอนาคตจะหารือกับ กทม.เพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างเทศกิจและตำรวจอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยมากที่สุด” พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าว