ภาพรอยร้าวภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้เกิดขึ้น เมื่อ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้ทำการยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ไม่สั่งฟ้องกรณีมีกลุ่มนายทุนบุกรุกป่าสบกกฝั่งขวา ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในคดีพิเศษที่ 70/2550 เกิดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน 2549 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2550
จากนั้นก็ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อในการถอนตัวออกจากการเป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชุดที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว
โดยให้เหตุผลต่อการถอนตัวว่า ดีเอสไอได้มีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับพยานสำคัญชาวบ้านที่ให้การยืนยันว่ามีกลุ่มนายทุนเข้าไปในพืนที่เกิดเหตุหลายครั้ง รวมไปถึงทางดีเอสไอมีมติให้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ก็พบว่าพื้นที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งสำนวนและพยานหลักฐานเพียงพอต่อการสั่งฟ้อง แต่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กลับไม่เร่งรัดสั่งคดีจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 14เดือน ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
วันดียวกับที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ ประกาศถอนตัวจากคดีรุกป่าสบกก ยังได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในคดีการฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.48 ซึ่งล่าสุดมีหลักฐานจากการตรวจสอบภาพในคอมพิวเตอร์ระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีทีและดีเอสไอ พบพิรุธมีการแทรกไฟล์ภาพคอมพิวเตอร์ของพระสุพจน์เป็นจำนวนกว่า 4,000 ไฟล์ โดยมีพนักงานของดีเอสไอชุดก่อน ได้นำฮาร์ทดิสก์ไปดัดแปลงและแทรกแซงไฟล์ เพื่อบิดเบือนคดีให้เห็นว่าการถูกฆาตกรรมคดีนี้เป็นเรื่องของชู้สาวและเรื่องส่วนตัว ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 2 คดี จะทำให้เกิดภาพลบยิ่งขึ้นต่อดีเอสไออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูเหมือนว่าทางดีเอสไอเองจะรับรู้ “สัญญาณอันตราย” บางอย่างในอาการ “แข็งเมือง” ของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ เป็นอย่างดี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์“ไฟลามทุ่ง” จาก “คนภายใน”ด้วยกันเอง
เพื่อกลบภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที จึงได้มีการออกมาแถลงข่าวชี้แจงอย่างสายฟ้าแล่บจาก พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฐานะโฆษกดีเอสไอ ในวันถัดมาว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่ความคิดเห็นและทัศนคติที่ไม่ตรงกันเท่านั้นระหว่าง หัวหน้าชุดหน้าพนักงานสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เพราะลำพังแค่ “ศึกนอก”ที่พัดโหมกระหน่ำเข้ามาที่ “แดนสนธยา” ที่หนักมากพออยู่แล้วกับภาพองค์กรของดีเอสไอที่กำลังถูกจับตาจากสังคม ในคดี ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีส่วนในคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งขณะอยู่ในฐานะผู้ต้องหาอยู่
การออกมา “งัดข้อ” กับ “ผู้บังคับบัญชา”หนนี้ของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ กลับเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับมาอย่างแรง เมื่อ นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนความผิดทางวินัย ระบุเหตุผลว่าไม่ต้องการให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ลูกน้องไม่พอใจผู้บังคับบัญชาแล้วไม่พยายามแก้ปัญหาการบริหารงานภายใน แต่กลับนำข้อมูลออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กระนั้นในด้านตรงกันข้ามกรณีนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อระบบข้าราชการของเมืองไทยในทางลบหรือไม่ ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน จนเกิดความเห็นต่างจากผู้บังคับบัญชา จะต้องถูกสอบความผิดวินัยฐานไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
กรณีที่เกิดขึ้นกับ พ.อ.ปิยะวัฒก์ จะเป็นแค่เพียงความเห็นต่างกันของหัวหน้ากับลูกน้องหรือเป็นประเภทต่างก๊ก คนละสายกันแน่ !? ลองมาย้อนประวัติกรมสอบสวนคดีพิเศษดูก่อนหน้านี้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ มาปฎิบัติหน้าที่องค์กรดีเอสไอ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2547 ในยุครอยต่อระหว่าง พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ และ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ นั่งอธิบดีดีเอสไอ มีผลงานเด่นชัดในยุคที่"นายสุนัย มโนมัยอุดม"นั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยบทบาทภารกิจโฆษกดีเอสไอ
จนต่อมาเป็นได้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 หลังยุคทักษิณเรืองอำนาจ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น ขณะเดียวกับที่ฝ่ายกระบวนการยุติธรรมกำลังถูกมองด้วยข้อครหาทางสังคมถึงในภาพแห่งความไร้ความยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษเองก็ไม่พ้นมีข้อครหาเช่นกันว่า เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้การเมือง
การเปลี่ยนแปลงดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตประธานศาลฎีกา ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในช่วงเวลานั้น เพื่อมาเปลี่ยนแปลงภาพลบของกระทรวงให้ดีขึ้นในสายตาสังคมและก็เป็นนายชาญชัย ที่แต่งตั้ง "สุนัย มโนมัยอุดม" ขึ้นมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ แทน พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นการถ่ายเลือดตำรวจยุคระบอบทักษิณครองเมือง
แต่หลังการเลือกตั้ง ปี 2550 เกิดเหตุการล้างบางเลือดตุลาการในกรมดีเอสไอ เมื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ได้เห็นชอบในคำสั่งโยกย้าย "สุนัย มโนมัยอุดม"ไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.)ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่ยังไม่เกิดขึ้นตามผลของกฎหมาย(ในขณะนั้น)
พร้อมๆกับมีคำสั่งให้ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง"รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ในขณะนั้นกลับถิ่นเก่า ช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการอธิบดีดีเอสไอ และ ขึ้นแท่น อธิบดีดีเอสไอ ด้วยเหตุผลที่ว่า พ.ต.อ.ทวี เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมดีเอสไอ มาก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน และมีความใกล้ชิดกับระบอบทักษิณ เป็นคนของ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นั่นเอง...
ขณะที่ในความรู้สึกของ"สุนัย"ในวันนั้น ได้แต่พูดคำสั้นๆว่า "เป็นข้าราชการต้องทำใจ”
เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนมือ การรวบอำนาจในดีเอสไอเกิดขึ้นอีกเมื่อ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งในช่วงที่มี สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีอยู่ แต่งตั้งรองอธิบดีเพื่อกระชับอำนาจ ได้แก่ 1. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา เป็น รองอธิบดี 2.พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบเป็นรองอธิบดี 3. พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นรองอธิบดี
จากนั้นมา"ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ" จึงเป็นเหมือนคนละสี กับฝ่าย "ทวี สอดส่อง"มองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับ"ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ" ยังคงปฎิบัติหน้าที่ใน ดีเอสไอ เรื่อยมา พร้อมกับเร่งทำคดีสำคัญตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีหลักฐานผลการทำคดีเป็นเครื่องยืนยัน ชะตากรรมของ “สุนัย” ในวันนั้น คงจะไม่แตกต่างจาก “ปิยะวัฒก์” ณ ขณะนี้มากนัก
กระนั้นก็ตามที หลังการพลิกขั้วครั้งสำคัญทางการเมือง จนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทำให้นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงยุติธรรม โดยก่อนหน้านี้บทบาทของพีระพันธุ์ในฐานะฝ่ายค้านคือ รัฐมนตรียุติธรรมเงา
ผลงานที่ผ่านมาก่อนมาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงยุติธรรม อยู่ในภาพที่ให้ความเชื่อมือได้ในฐานะส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ทำการตรวจสอบการทุจริตในยุครัฐบาลทักษิณกุมอำนาจ และประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาผดุงความยุติธรรมลบภาพไม่ดีของกระบวนการยุติธรรมให้หมดไปจากสังคมไทย
ปฏิเสธไม่ได้ที่นายพีระพันธุ์ จะต้องมากำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างแข็งขัน เนื่องจากภาพที่ดูฝังแน่นว่าองค์กรนี้มีภาพของการรับใช้ฝ่ายการเมือง ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงดีเอสไอเองก็มีอำนาจเต็มมือในการใช้กฏหมายเป็นพิเศษกว่าตำรวจธรรมดาด้วยซ้ำไป แต่กลับเกิดภาพติดลบในหลายเรื่องซ้ำร้ายกว่าเดิม เช่นมีคนที่ช่วยราชการดีเอสไอไปมีส่วนคดีลอบสังหารสนธิ ลิ้มทองกุล พบพนักงานดีเอสไอชุดก่อนในคดีตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพระสุพจน์ไปเปลี่ยนแปลงไฟล์เพื่อบิดเบือนคดีเสียเอง และนายพีระพันธ์เองก็เคยเจอกับตัวเรื่องการถูกแอบดักฟังจากคนของดีเอสไอ
ที่สำคัญที่สุดคือ การประกาศชัดว่าจะรื้อฟื้นคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นคดี เอสซีแอสเซส ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเต็มๆ ทั้งที่นายสุนัย มโนมัยอุดม เคยหาหลักฐานสำคัญที่จะเอาผิดกับพ.ต.ท. ทักษิณได้ แต่คณะทำงานของ อัยการสูงสุดกลับละเว้นข้อกล่าวหาและหลักฐานทิ้งไปโดยไม่โต้แย้งใด และดีเอสไอในยุคนี้ก็มิได้ติดตามเรื่องจนเงียบหายเข้ากลีบเมฆตลอดมา
อีกทั้งยังมีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่าง ๆ จำนวน 17 โครงการ ของบริษัทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยูระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้รับการใส่ใจจากดีเอสไอเท่าไหร่นัก เหตุเนื่องจากคดีเหล่านี้เกิดในยุคของทักษิณเป็นรัฐบาลหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีสำคัญหลายคดีที่ยังอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอที่ต้องจัดการอย่างโดยเร็ว อาทิ คดีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตรหรือทนายสมชาย คดีฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ คดีสังหารนักการทูตและนักธุรกิจซาอุฯหรือคดีเพชรซาอุ คดีฆ่าแขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ที่ จ.กาฬสินธุ์ ( มีการถูกงัดรถเอกสารสำนวนก่อนที่จะถูกส่งไปให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษซึ่งรถอยู่ที่ดีเอสไอ) คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปล้นอาวุธปืนหน่วยทหารพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงสงขลาราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ( คดีต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร )
คำถามที่ตามมาคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษในยุคของ ทวี สอดส่อง กุมอำนาจ กลับไม่มีการทำคดีอย่างจริงจังกับโครงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนได้เสียเต็มๆ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ รวมไปถึงกำลังหลงทางต่อพันธกิจองค์กรหรือไม่ที่ยังมีคดีพิเศษสำคัญที่ต้องรับผิดชอบดูแลอีกมากมายกลับไม่เร่งจัดการ แถมบางคดีกลับมีพนักงานของดีเอสไอเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับคดีหน้าตาเฉย !?
การไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตลอดมานั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคำถามตามมาว่า หลักธรรมมาภิบาลอยู่ที่ใด
คดีป่าสกกบที่เป็นร้อยร้าวในดีเอสไอล่าสุดนี้ โดยพื้นที่ถูกกลุ่มนายทุนบุกรุกป่า บริเวณตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อาจตั้งข้อสงสัยและมีข้อมูลบางอย่างชี้ได้ว่าเป็นพื้นที่ของ “นักการเมืองบางคน”ที่เป็นคนของทักษิณอีกด้วย
การเข้าไปแตะต้องของร้อน พ.อ.ปิยะวัฒก์ จะไปกระทบผลประโยชน์ของบางคนหรือไม่ ยังต้องใช้เวลาและหลักฐานพิสูจน์ เพื่อให้เกิดความกระจ่างจึงต้องพิสูจน์ว่าเหตุใดจึงเกิดความล่าช้าของคดี หรือจะเป็นการรักษาวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ของไทยในสายราชการที่ผิดๆว่าหัวหน้าต้องถูกเสมอต่อไป
แสงแห่งความยุติธรรมจะสาดส่องมาถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ องค์กรที่ได้ชื่อว่าต้องรักษากฏหมายและผดุงความยุติธรรม
ยังต้องดูกันต่อไป ว่า พ.อ.ปิยะวัฒก์ ที่ออกมาขวางการทำงานของผู้เป็นนาย จะมีชะตากรรมอย่างไรต่อจากนี้จึงน่าจับตามองว่าความจริงคดีเรื่องนี้เป็นเช่นไร
หรือกรณีนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานต่อสังคมไทย ที่ยังคงมีระบบอุปถัมภ์ฝังแน่นอยู่ในระบบราชการไทยมาช้านาน และ “ผลกรรม” จากการขวางทางของเขาจะสร้างความกลัวของผู้ใต้บังคับบัญชายิ่งขึ้นไปอีก
กระทรวงยุติธรรมในยุคของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จึงมีหน้าที่ต้องเรียกศรัทธาของความยุติธรรมและความถูกต้องกลับคืนมา ในขณะที่สังคมกำลังถามหาความยุติธรรมที่ปัจจุบันเกิดความแตกแยกทางความคิดและแบ่งฝ่าย ความยุติธรรมในสังคมเองจึงมีส่วนอย่างยิ่งที่จะสมานร้อยร้าวในสังคมไทยเยียวยาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
เพื่อยืนยันว่าสัญลักษณ์ตาชั่งของกระทรวงยุติธรรมยังคงเป็นตาชั่งที่เที่ยงตรงไม่ได้เอียงกะเท่เล่ อย่างที่สังคมกำลังตีตรา !?