กรมพินิจฯ ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต บำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กมากกว่าการลงโทษ หลังพบสถิติเยาวชนทำผิดปีที่แล้วเกือบ 5 หมื่นราย โดยทำผิดซ้ำร้อยละ 14.06
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพฯ นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด
นายธวัชชัย กล่าวว่า จากสถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด ในปี 2551 พบเด็กกระทำผิดประมาณ 46,981 ราย และมีผู้กระทำผิดซ้ำร้อยละ 14.06 ซึ่งกรมพินิจฯ มุ่งเน้นในการบำบัด ฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ วันนี้จึงร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต ในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชน และครอบครัว จึงได้บันทึกข้อตกลงกัน เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดอยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมทั้งสิ้นกว่า 6,500 ราย ขณะที่สถานที่รองรับได้ประมาณ 4,000 รายเท่านั้น จึงเกิดปัญหาการอยู่กันอย่างแออัด และกิจกรรมครั้งนี้ทางกรมสุขภาพจิตจะช่วยสนับสนุนเครื่องมือในการฝึกอบรมนักจิตวิทยาจากหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจฯ ทั่วประเทศ 162 คน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือทำงานอะไรเลย คดีที่ก่อเหตุมากสุดปัจจุบัน คือ คดีลักทรัพย์ ร้อยละ 26% รองลงมาคดียาเสพติด ซึ่งสาเหตุที่เด็กส่วนใหญ่ต้องการหาเงินไปเล่นเกม นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัญหาของเด็กเกิดจากครอบครัวแตกแยกถึงร้อยละ 50.72% ส่วนที่เหลือครอบครัวสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ครอบครัวกำลังมีปัญหา ซึ่งต้องรีบหันกลับไปดูสถาบันครอบครัว และอีกส่วนที่เห็นอย่างชัดเจนในปัญหาเด็ก คือ ร้อยละ 27% เป็นเด็กพวก “โนบอดี้ชาย” คือ ขาดความเคารพนับถือในตัวเอง แล้วเป็นกลุ่มเด็กที่มีความสุขอยู่ในโลกปัจจุบันมากกว่าการเตรียมการเพื่ออนาคต คือ อยู่แต่ความสุขในปัจจุบันโดยที่ไม่สนใจถึงเรื่องของอนาคต
“ปัญหาทั้งหมดปรากฏว่า เมื่อไปดูลึกๆ เมื่อร้อยปีที่แล้วกับเด็กปัจจุบัน กับเด็กอีกร้อยปีข้างหน้าเด็กไม่เคยเปลี่ยน แต่ว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็กมันเปลี่ยนไปหมด ในขณะที่พ่อแม่ของเด็กยังมีความคาดหวังกับประสบการณ์เดิมๆ ซึ่งลงไปอัดที่ตัวเด็กอย่างมาก เพราะพ่อแม่ต้องทำมาหากินจึงลงที่เด็ก” อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าว