ดีเอสไอ เร่งคลี่คลายคดี “กมล เหล่าโสภาพันธ์” ยามเฝ้าแผ่นดิน นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน จ.ขอนแก่น หายตัวไป หลัง กคพ.รับเป็นคดีพิเศษ ผอ.สำนักคดีอาญา พบหลักฐานรอยคราบเลือดภายในรถยนต์ เชื่อเสียชีวิตแล้ว
วันนี้ (25 มิ.ย.) พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผอ.สำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าคดี นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกยามเฝ้าแผ่นดิน เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่หายตัวไปนานกว่า 1 ปี ซึ่งที่ประชุม กคพ.ได้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ว่า เตรียมเสนออธิบดีดีเอสไอเพื่อแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานสอบสวนคลี่คลายคดีนี้ เบื้องต้นคดีอยู่ในความรับผิดชอบของ ผอ.ส่วนสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 หลังจากนั้นจะประชุมวางแผนกำหนดกรอบการทำงานสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้าย อย่างไรก็ตาม คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ลงพื้นที่มาโดยตลอด จนได้ข้อมูลเบาะแสเพียงพอ เชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเสนอเรื่องเข้าเป็นคดีพิเศษ
พ.อ.ปิยะวัฒก์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอพบหลักฐาน รอยคราบเลือดภายในรถยนต์ส่วนตัวของนายกมล ที่คนร้ายได้นำมาจอดทิ้งเป็นปริศนาไว้ที่โรงพยาบาลสิรินธร อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น จุดเกิดเหตุดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านผู้เสียหาย อ.บ้านไผ่ ประมาณ 20 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าคล้ายกับมีการล้างทำความสะอาดภายในตัวรถด้านที่นั่งผู้โดยสาร เพื่อทำลายพยานหลักฐาน แต่เจ้าหน้าสามารถพิสูจน์จนเจอรอยเลือด จึงเชื่อว่านายกมล อาจจะเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ทางญาติได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากนายกมลครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันที่ 7 ก.พ.2551 ซึ่งนายกมลพูดว่ายังอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น สำหรับสาเหตุการหายตัวไปนั้นแนวทางการสืบสวนเบื้องต้นมีอยู่ 2 ประเด็นคือการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานในพื้นที่และประเด็นความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะเร่งสืบสวนและติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด
สำหรับคดีนี้ญาติได้ยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากทราบว่านายกมลได้เข้าไปตรวจสอบการทุจริตการเช่าที่ดินของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และมีเหตุขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ จนมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ต่อมา นายกมล ได้หายไปหลังจากที่เข้าพบข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่สถานีตำรวจ และพบรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้ ต่อมาเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 5/2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นคดีความผิดทางอาญา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีอาญาโดยเจ้าพนักงานตำรวจ และคดีมีความซับซ้อน ประกอบกับเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงมีมติให้รับเป็นคดีพิเศษ