xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงหวังให้ ตร.เร่งแก้ไขคดียา-ฆ่า-ขืนใจ เพิ่มกำลังสายตรวจ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เอแบคโพลล์สุ่มสำรวจความเห็นของประชาชนคนเมืองหลวงที่มีต่อตำรวจ พบว่าอยากให้ตำรวจเร่งแก้ไข 3 ปัญหาสำคัญ ทั้งยาเสพติด คดีฆาตกรรม และข่มขืน พร้อมตั้งข้อสังเกตไม่พบตำรวจเข้าไปตรวจในชุมชน หรือหมู่บ้านตลอดช่วง 30 วัน แต่พอใจตำรวจ 191 มากกว่าตำรวจท้องที่ และอยากให้เพิ่มกำลังสายตรวจในจุดล่อแหลม ในขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของตำรวจต่อตำรวจด้วยกันระบุ ขาดงบประมาณ เงินเดือนน้อย งานมาก และต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของผู้บังคับบัญชา แต่ยังมีความภาคภูมิใจในอาชีพตำรวจ

วันนี้ (22 พ.ค.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความหวาดกลัวของคนเมืองหลวงต่ออาชญากรรม และตำรวจมองการทำงานของตำรวจอย่างไร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในกรุงเทพมหานคร และข้าราชการตำรวจสังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล จำนวนทั้งสิ้น 1,691 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค.

ผลการสำรววจดังกล่าวระบุว่า ประชาชนผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 อยากให้ตำรวจเร่งรีบป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นอันดับแรก รองลงมาคือร้อย ละ 56.0 ปัญหาการฆาตรกรรม และร้อยละ 50.1 ระบุปัญหาข่มขืน และรองๆ ลงไป คือ ปัญหาจี้ปล้น โจรกรรมทรัพย์ ล่วงละเมิดทางเพศ ทะเลาะ วิวาท ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่รีดไถ ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ฉ้อโกง และกักขังหน่วงเหนี่ยว ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้สึกหวาดกลัวต่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 66.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ในการสำรวจล่าสุด และประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.2 เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะมีตำรวจสายตรวจออกมาประจำจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อส่งประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยยามค่ำคืนหรือวันที่มีฝนตก โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อพบเห็นตำรวจเข้ามาตรวจตราดูแลความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง

ผลสำรวจระบุต่อว่า สิ่งที่น่าพิจารณา คือ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 51.5 ไม่เคยพบเห็นตำรวจเข้ามาตรวจตราความปลอดภัยในหมู่บ้านหรือชุมชนของตนเองในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 48.5 ระบุเคยพบเห็น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบจำนวนประชาชนที่เห็นตำรวจเข้ามาตรวจตราความปลอดภัยสูงขึ้นเล็กน้อยคือจากร้อยละ 44.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ของคนที่เคยประสบเหตุนอกพื้นที่ที่พักอาศัยและมีปัญหายากลำบากในการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหตุเกิดที่ใด ในขณะที่ร้อยละ 43.0 ไม่พบปัญหา

ผลสำรวจพบด้วยว่า ประชาชนที่เคยโทรศัพท์แจ้งเหตุเกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 54.1 พอใจต่อตำรวจ 191 ในขณะที่ร้อยละ 49.7 พอใจการรับแจ้งเหตุของตำรวจท้องที่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เคยมีประสบการณ์สัมผัสการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือหรือรับแจ้งเหตุ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.6 พบว่าตำรวจพูดจาดี ร้อยละ 68.7 พบว่าติดต่อง่าย มีตำรวจคอยรับสายอยู่ตลอดเวลา ร้อยละ 66.0 ตำรวจผู้รับแจ้งใส่ใจสอบถามรายละเอียด ร้อยละ 65.2 ตำรวจขอทราบชื่อ นามสกุล ผู้แจ้งเหตุ ร้อยละ 63.5 พบว่าตำรวจมีสมุดพก ติดตัวมาจดรายละเอียดในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 58.2 พบว่าตำรวจมีวัสดุอุปกรณ์ รักษาที่เกิดเหตุได้อย่างดี ร้อยละ 57.0 พบตำรวจทำงานเชื่อมประสานกันดี ร้อยละ 46.3 ระบุตำรวจรีบวางสายเกินไป และมีไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 43.1 ที่พบว่ามีตำรวจติดต่อกลับมาเพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการตรวจสอบ และที่น่าเป็นห่วงมีร้อยละ 18.8 พบว่าตำรวจมีน้ำเสียงคล้ายกับดื่มเหล้าเมา มาตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยความพอใจโดยภาพรวมต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหน่วยต่างๆ เมื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ในทุกหน่วยงานของตำรวจ คือ ค่าเฉลี่ยความพอใจของประชาชนต่อตำรวจ 191 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้น จาก 6.12 ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 6.87 ในขณะที่ตำรวจท้องที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยความพอใจเพิ่มขึ้นจาก 5.82 มาอยู่ที่ 6.36

แต่เมื่อพิจารณาผลสำรวจจากตำรวจว่า ตำรวจมองการทำงานของตำรวจอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.8 ระบุ การจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐให้กับตำรวจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการทำงาน และร้อยละ 94.4 ระบุมีปัญหาเรื่องเงินเดือนไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง และร้อยละ 92.7 ระบุขาดเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ปัญหารองๆ ลงไปคือ งบประมาณไม่เพียงพอ จำนวนคนไม่เพียงพอกับปริมาณงาน ต้องนำเงินทรัพย์สินส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน เช่น จ่ายค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าอาหารให้ผู้ต้องหา ค่าจัดเลี้ยงผู้บังคับบัญชา ค่าใช้จ่ายติดตามตัวผู้ต้องหา ซื้ออาวุธประจำกาย และวิทยุสื่อสารประจำตัว

นอกจากนี้ ปัญหาด้านการปฏิบัติงานร่วมกับผู้บังคับบัญชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุถูกมอบหมายงานที่มากเกินไป ร้อยละ 57.9 ระบุต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้กับผู้บังคับบัญชา ร้อยละ 57.3 ผู้บังคับบัญชาเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 49.5 ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานไม่ชัดเจน และร้อยละ 49.4 ผู้บังคับบัญชานำงบน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ รองๆ ลงไปคือ มีผู้บังคับบัญชามากเกินไป ไม่ได้รับเกียรติจากผู้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนในการปฏิบัติราชการ ผู้บังคับบัญชาก้าวก่ายการทำงานมากเกินไป และใช้ให้ทำงานส่วนตัวมากเกินไป

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการทำงานที่เกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.1 ระบุอาวุธประจำกาย ต้องหาซื้อมาด้วยเงินของตนเอง ร้อยละ 86.2 ระบุงบประมาณ เช่น งบน้ำมันใช้ในงานสายตรวจ มีไม่มากพอ ร้อยละ 83.9 ระบุ วิทยุสื่อสารที่ใช้ต้องซื้อมาด้วยเงินของตนเอง ร้อยละ 80.9 ไม่มีงบประมาณ ฝึกยิงปืน ร้อยละ 79.6 ระบุเพื่อนตำรวจใช้อาวุธประจำกายมีความหลากหลายของชนิดปืน ทำให้ใช้ทดแทนกันไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และรองๆ ลงไปคือ ไม่มีการจัดเจ้าหน้าที่ที่ออกกฎหมายมาอบรมให้ความรู้แก่ตำรวจ มีการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ และการตีความตัวบทกฎหมายของพนักงานสอบสวนมีมาตรฐานต่างกันฯลฯ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ตำรวจร้อยละ 47.9 ระบุยังมีการใช้ระบบอุปถัมภ์ เช่น เส้นสาย การเอาใจผู้บังคับบัญชา พวกพ้อง และการซื้อขายตำแหน่ง ในการพิจารณาความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่เพียงร้อยละ 13.9 ระบุใช้ระบบคุณธรรมมากกว่า และร้อยละ 38.2 ระบุใช้ทั้งสองระบบร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ยังภูมิใจในการเป็นข้าราชการตำรวจในระดับค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด และค่าเฉลี่ยคะแนนความภูมิใจต่อวิชาชีพตำรวจ เมื่อเต็ม 10 คะแนน ได้ 8.19 คะแนน


กำลังโหลดความคิดเห็น