xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนกล้ายางนัดแรก “เนวิน” ยันบริสุทธิ์ใจ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพในวันที่นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ เดินทางมาขึ้นศาลแถลงเปิดคดีทุจริตกล้ายาง
“เนวิน” ไต่สวนจำเลยครั้งแรกทุจริตกล้ายาง ยอมรับเป็นผู้ริเริ่มโครงการ แรงบันดาลใจจากผลศึกษาสถาบันยาง ยันบริสุทธิ์ใจหวังสร้างเม็ดเงินให้เกษตรกร แจง ครม.ไม่เคยค้าน ส่วนเงินทุนกว่า 1,400 ล้าน คชก.พิจารณาอนุมัติ ขณะที่ “สมคิด-วราเทพ-สรอรรถ” รอคิวไต่สวน 19-20 พ.ค.นี้

วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 ทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตรมูลค่า 1,440 ล้านบาท พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยครั้งแรก ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะ คชก., นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะ คชก.กับพวก รวม 44 คน ประกอบด้วย กลุ่ม คชก., กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ ทรัพย์สินใดใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเสียหายแก่รัฐ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, 157, 341 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

โดยการไต่สวนพยานจำเลยครั้งแรก นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ เข้าเบิกความเป็นปากแรก ซึ่งตอบคำถามศาลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและแหล่งเงินทุน ยอมรับว่าพยานเป็นผู้ริเริ่มโครงการและนำเสนอ ครม. ซึ่ง ครม.ได้ซักถามเกี่ยวกับระเบียบและความเป็นมาการดำเนินโครงการ แต่รายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินโครงการ พยานจำไม่ได้ว่าจะมีใครคัดค้านรายละเอียดการใช้เงินหรือไม่ โดยนายเนวิน เบิกความย้ำว่า แนวคิดที่ริเริ่มโครงการนั้นมาแนวทางผลการศึกษา และการวิจัย ของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรว่าพื้นที่อีสานสามารถปลูกยางพาราได้ ส่วนการอนุมัติการใช้เงินกว่า 1,400 ล้านบาทเป็นเรื่องที่ ครม. หรือ คชก.พิจารณาเห็นชอบ

นายเนวินตอบศาลว่า ครม.เห็นชอบเฉพาะการดำเนินโครงการ ส่วนเงินทุนนั้น คชก.เป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วงเงินเท่าใด ทั้งนี้ นายเนวินเบิกความยืนยันว่าการดำเนินการอนุมัติโครงการนั้นไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งขณะนั้น พยาน ดำรงตำแหน่ง รมช. และรักษาตำแหน่ง รมว. เกษตรฯ ซึ่งยังว่างอยู่ขณะนั้น เนื่องจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ

ทั้งนี้ นายเนวินยังตอบคำถามทนาย ป.ป.ช.ยืนยันด้วยว่า ไม่เคยรู้จักพยานในชั้น คตส.มาก่อน ซึ่งให้การพาดพิงนายเนวิน ซึ่งการดำเนินโครงการ นายเนวินย้ำว่าเป็นไปด้วยบริสุทธิ์ใจที่ต้องการให้เม็ดเงินทุกบาท เกิดประโยชน์กับเกษตรกรอย่างสูงสุด

ภายหลังนายเนวินเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความจำเลยได้นำพยานเข้าไต่สวนอีก 2 ปาก ประกอบด้วย นายสิทธิ บุญรัตนผลิน จำเลยที่ 17 อดีตอธิบดีกรมประมง ซึ่งเป็นหนึ่งใน คชก. และนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนพยานนั้น ฝ่ายจำเลยยังมีพยานปากสำคัญในกลุ่ม คชก.ที่รอเข้าไต่สวนอีกในวันที่ 19-20 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยพยานกลุ่ม คชก.มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก., นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะ คชก. และนายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1-3
กำลังโหลดความคิดเห็น