ภายหลังจากที่"นายคารม พลทะกลาง"ทนายความของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไปพบสื่อมวลชนประจำศาล ชี้แจงแถลงไขว่าจะไม่ยื่นเพิกถอนคำสั่งศาลแพ่ง ที่สั่งให้เปิดประตูทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างว่าเคารพคำสั่งศาลและไม่กระทบต่อการชุมนุม อีกทั้งไม่อยากทะเลาะกับข้าราชการ เพียงแต่ต้องการแค่ไล่รัฐบาลเท่านั้น
นอกเหนือจากคำชี้แจงดังกล่าวกับสื่อมวลชนแล้ว นายคารม ยังระบุว่า แม้จะไม่ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งศาลแพ่ง แต่ได้เตรียมยื่นฟ้องเว็บไซด์ผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th เป็นการส่วนตัว หลังจากกรณีเสนอข่าวที่ได้ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยพาดหัวข่าวว่า "ทนายแดงถ่อยอ้าง 3 เหตุยื่นอุทธรณ์ขอปิดทำเนียบฯต่อ" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ตนเองเสียหาย จึงอยากให้มีการพิสูจน์ในศาลว่าคำว่า "ถ่อย" เป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่
ยังไม่มีใครทราบว่า "นายคารม พลทะกลาง" เป็นใครมาจากไหน มีหัวนอนปลายเท้า และประวัติความเป็นมาอย่างไร เพียงแต่ทราบกันว่า นายคารม เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านกฏหมายของพรรคเพื่อไทย ที่มักออกมาแถลงข่าวพร้อมกับนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า นายคารม ยังเป็นถึงประธานชมรมนักกฏหมายเพื่อประชาชนด้วย
มาวันนี้ นายคารม ในฐานะทนายความ นปช. ซึ่งได้ทำเรื่องอุทธรณ์ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่ง ที่สั่งให้กลุ่มคนเสื้อแดงเปิดถนนลูกหลวงตั้งแต่แยกเทวกรรมไปจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และให้เปิดประตูที่ 5 และประตูที่ 8 ให้ข้าราชการ ผู้ไปติดต่อ และคณะรัฐมนตรีเดินทางเข้าออกได้สะดวก โดยนายคารม อุทธรณ์แย้งประเด็นหนึ่งว่า"ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของ สปน. เนื่องจากก่อนหน้านี้ในคดีที่ สปน.ยื่นฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ เคยมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมาย เรื่องอำนาจของศาลแพ่งในการสั่งคดีเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุม และจนถึงขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยลงมา"
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2551 นายคารม ในฐานะทนายความของ นายสุรินทร์ หิรัญ,นายอนุวัฒน์ รัตนกุล, นายเปี่ยม ไชยมูล, นายวรวิทย์ สุระโครต, นายดำรงค์ มั่นการ และ นายวุฒิ เกตุสิน ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และลูกจ้างประจำกระทรวงศึกษาธิการ ที่ฟ้องขับไล่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตยนั้น นายคารม ระบุไว้ชัดเจนในครั้งนั้นว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องฐานละเมิดซึ่งใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความแต่อย่างใด"
บทบาทของ นายคารม ยังเคยนำสมาชิกทนายความราว 30 คน เข้ายื่นหนังสือกับนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พลังประชาชน(ขณะนั้น) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทำการถอดถอน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ในมาตรา 7 ฐานเรียกร้องให้สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ทำการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชิ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (นักโทษชายหนีคดีจำคุก) พร้อมทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการถอดยศ พ.ต.ท.คืนอีกหากศาลมีการตัดคดีจนถึงที่สุด ซึ่งนายคารม เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ใช่หน้าที่ของทนายความ เป็นการชี้แนะแนวทางที่ไม่สมควร นอกจากนี้ ที่ผ่านมาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมการสภาทนายความบางคนที่ไปร่วม ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยู่หลายครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายคารม ยังได้ร่วมกับนายพร้อมพงศ์ ไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อกล่าวหากรณีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ในฐานะส.ส.พรรคภูมิใจไทย กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีแจกเงินและสิ่งของให้ชาวบ้านพร้อมกับแนบนามบัตรด้วย
ต่อมา ทั้งคู่ยังได้ยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อให้วินิจฉัยกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ที่ร่วมกันแถลงนโยบายรัฐบาล ณ กระทรวงการต่างประเทศ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นอกเหนือจากนั้น นายคารม ยังเป็นทนายความของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เพื่อดำเนินการฟ้องร้อง นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีการเสียชีวิตของชิปปิ้งหมูด้วย
ผลงานอีกชิ้นของนายคารม คือการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน สภ.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ฐานเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิ เพียงแต่นายคารม ไปแจ้งความเอาผิดนายกษิต เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2551 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่คณะรัฐมนตรี เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว
บทบาทของการเป็นทนายความของนายคารม ก็เป็นที่ทราบพอสังเขปกันดีว่า นายคารม ทำงานกับใคร และทำงานเพื่อใคร ไม่รู้ว่าทนายความอย่างนายคารม มีมาตรฐานเป็นอย่างไรเพราะเมื่อคราวฟ้องพันธมิตรฯ ก็บอกว่า ศาลแพ่งมีอำนาจ แต่เมื่อคราวถูกฟ้อง กลับแก้ต่างว่า ศาลแพ่งไม่มีอำนาจ อย่างนี้ ถ้าไม่เรียกว่า 2 มาตรฐานจะให้เรียกว่าอะไร หรือจะให้เรียก"ลิ้นสองแฉก"....