บช.น.เผยนครบาลวิเคราะห์โฟนอิน “ทักษิณ” แล้ว ยังไม่พบถ้อยคำหมิ่นสถาบัน เป็นการหมิ่นเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์กับตำรวจเองจึงจะสามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน ตำรวจตรวจเข้ม 13 จุดสำคัญ ป้องกันมือที่ 3 ป่วนการชุมนุมม็อบเสื้อแดงปิดล้อมทำเนียบ ส่วน 30 มี.ค. เตรียมสโมสรตำรวจ รับ 21 พันธมิตรฯ เข้ามอบตัว
วันนี้ (28 มี.ค.) พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นประธานการประชุมรับมือสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล โดยมี รอง ผบช.น., ผบก.น.1-9, ผบก.ตปพ., ผบก.จร., ผบก.อก. รอง ผบก.ศส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
จากนั้น พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. ได้เปิดเผยกรณีการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ในส่วนของเรื่องการพาดพิงนั้น ผบช.น.ได้ให้ฝ่ายข่าวโดยศูนย์ปฏิบัติการข่าวถอดเทปเรียบร้อยแล้ว และวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่พบถ้อยคำที่มีการหมิ่นสถาบัน เป็นการหมิ่นเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งผู้เสียหายต้องร้องทุกข์กับตำรวจเองจึงจะสามารถดำเนินการได้
ถามว่ามีข่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงจะไปบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษหรือไม่ พล.ต.ต.สุพร กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่ก็มีการดูแลทั่วไปโดยเฉพะการเน้นจุด ว.43 เป็นพิเศษโดยรอบ โดยใช้กำลังร่วมกับ ปจ.ในบริเวณโดยรอบ รวม 13 จุด โดยเน้นตรวจอาวุธและยาเสพติด ซึ่งจากการชุมนุมที่ผ่านมาก็ยังไม่มีรายงานว่าพบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด และเราก็ดูแลในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะดูแลผู้ชุมนุมเท่านั้น ในส่วนนี้ ผบช.น.สั่งการให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) เป็นผู้ดูแล และให้ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รอง ผบช.น. จัดทำแผนรองรับ ซึ่งยอดชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมสูงสุดประมาณ 3 หมื่นกว่าคน
เมื่อถามว่าได้มีการเจรจาในส่วนของการยุติการชุมนุมหรือไม่ พล.ต.ต.สุพร กล่าวว่า ฝ่ายเจรจาเข้าไปเจรจาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะอยู่ถึงเมื่อใด เรื่องนี้อยู่ที่แกนนำ หากเป็นไปได้ก็อยากให้เลิกก่อนงานกาชาดวันที่ 30 มีนาคมนี้ ก็จะเป็นการดีกับทุกฝ่าย เพราะมีเรื่องของการรับเสด็จด้วย ส่วนในวันนี้ก็ต้องจับตาดูเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะโฟนอินเข้ามาพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจ ขณะนี้ก็เน้นการดูแลในเรื่องการตั้งสกัดและการหาข่าวเพื่อเฝ้าระวังมือที่ 3 เป็นพิเศษ แต่ยังไม่พบรายงานข่าวที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 21 คน จะเข้ามอบความนั้นจะดำเนินการอย่างไร รอง ผบช.น.กล่าวว่า ได้มีการนัดแนะกับพนักงานสอบสวนและประสาน พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ดูแลฝ่ายสอบสวนไปแล้ว วันที่ 30 มีนาคม เวลา 10.00 น. จะเข้ามอบตัวที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากเห็นว่าหากมาที่ บช.น.อาจไม่สะดวก เพราะมีงานกาชาด อีกทั้งอาจมีผู้ให้กำลังใจมาด้วยจึงอาจไม่สะดวก ซึ่งในส่วนนี้จัดกำลัง บก.น.2 และกำลัง ปจ.ของ บก.ตปพ. ดูแลในเรื่องความปลอดภัยแล้ว
ต่อมา เมื่อเวลา 11.20 น. ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ได้มาเจรจากับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ใช้เวลาเจรจาประมาณ 5 นาที
จากนั้น พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า การเจรจากับนายณัฐวุฒิเพื่อหามาตรการรักษาความปลอดภัย และป้องกันมือที่ 3 เข้ามาป่าวนในพื้นที่ ทางตำรวจจะมีการตรวจยานพาหนะ และบุคคลที่ผ่านเข้าออกในที่ชุมนุม โดยการตรวจค้นขอเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มเสื้อแดง เพราะกฎหมายระบุไว้ นอกจากนี้จะมีการตั้งด่านรอบบริเวณพื้นที่ชุมนุม เช่น บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ แยกนางเลิ้ง เทวกรรม เป็นต้น โดยจะส่ง เจ้าหน้าที่มาประจำจุดละ 10 นาย ส่วนด้านในจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจค้นด้วย
พล.ต.อำนวย ได้เจรจาขอเปิดพื้นที่บางส่วน โดยเฉพาะแยกสวนมิสกวันเพื่อจัดงานกาชาด คงต้องมีการควบคุมเสียงและต้องขยับเต็นท์มากกว่าที่เป็นอยู่