ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง คดี “ วิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน” นักธุรกิจเคเบิลชาวอเมริกัน ฟ้อง “ทักษิณ” กับพวก เบิกความเท็จคดีแพ่ง ชี้คดีขาดอายุความ ขณะที่ทนายเตรียมอุทธรณ์ต่อ พร้อมให้ศาล รธน.ตีความ ป.อาญา เรื่องการนับอายุความ
วันนี้ (31 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 157/2550 ที่นายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน อายุ 65 ปี ผู้บริหารบริษัท ซีทีวีซี ออฟฮาวาย จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีสหรัฐอเมริกา เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมคือบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคลาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบกิจการ IBC เคเบิลทีวี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน ร่วมกันเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 และเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อชื่อเสียง จำนวน 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งคดีสืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.39, 12 พ.ย.39 และวันที่ 13 ม.ค.40 พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นประธานบริษัท IBC เคเบิลทีวี ได้เป็นพยาน เบิกความต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีที่บริษัท IBC เคเบิลทีวี และบจก.วีดีโอลิ้ง ร่วมกันยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ซีทีวีซีฯ, นายวิลเลี่ยม, นายสถาพร ศรีธรรมโรจน์ และนายบงการ ถนัดพจนามาตย์ เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย ขอยืม กรณีที่ไม่ส่งคืนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารที่นำเข้าจากสหรัฐฯ อเมริกา
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสอง กระทำผิดเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 22 ก.ค.39, 21 พ.ย.39 และ 13 ม.ค.40 ซึ่งความผิดเบิกความเท็จ มีอายุความ 10 ปี โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) บัญญัติเรื่องการนับอายุความ ไว้ว่า ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความสำหรับความผิดนั้น ซึ่งนับแต่วันกระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสอง ร่วมกันเบิกความเท็จ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.39, 21 พ.ย.39 และ 13 ม.ค.40 การนับอายุความจึงต้องนับวันสุดท้ายที่มีการกระทำผิด คือวันที่ 13 ม.ค.40 ซึ่งคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12 ม.ค.50 และแม้ศาลจะดำเนินการไต่สวนแต่การนับอายุความก็ยังไม่หยุดนับ โดยระหว่างไต่สวนก็ยังไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดมาศาลตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติไว้ ดังนั้นคือจึงต้องขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.50 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2531 ดังนั้นศาลจึงไม่อาจประทับฟ้องคดีไว้ได้ พิพากษายกฟ้อง
ภายหลัง นายประเมศวร์ สูตะบุตร ทนายความ กล่าวว่า จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป โดยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยในเรื่องที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 29 และ 39 เรื่องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคล และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม