ศาลฎีกานักการเมือง นัดพิจารณาคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ครั้งแรกพรุ่งนี้ ทนาย คตส.ระบุ การไต่สวนโจทก์เน้นพยานบุคคลที่สำคัญ
วันนี้ (22 ก.ย.) นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ซึ่งเป็นทนายความของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รับผิดชอบคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท กล่าวว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) เวลา 10.00 น.ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจำเลยทั้งหมด 44 คน จะเดินทางมาศาลครบทุกคนหรือไม่ โดยนัดพิจารณาครั้งแรกจำเลยทุกคนจะต้องมาศาลเพื่อสอบคำให้การจำเลย อย่างไรก็ดี กระบวนการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นระบบไต่สวนนั้นค่อนข้างรวดเร็ว จึงคาดว่าจะใช้เวลาไต่สวนพยานไม่นาน แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเสร็จได้ในช่วงเวลาใด ซึ่งการไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์จะนำสืบบุคคลที่สำคัญเท่านั้น เพราะการพิจารณาคดียึดสำนวนในชั้นไต่สวนของ คตส.อยู่แล้วซึ่งมีพยานเอกสารจำนวนมาก และค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ คตส.เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีเอง โดยมีจำเลยทั้งสิ้น 44 คน ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะเป็น คชก.นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มโครงการ, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตรฯ ในฐานะเป็น คชก.และ นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะเป็น คชก., กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม.คณะที่ 2, กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.), กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ (กำหนดทีโออาร์), คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151, ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83, 84, 86 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11
โดยคดีนี้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าเป็นโจทก์แทนได้ เนื่องจาก คตส.พ้นวาระ