ดีเอสไอจับตาแก๊งโกงข้อสอบ เสนอตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร ใช้มาตรการยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการเงินของขบวนการ
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ ผู้บัญชาการสำนักเทคโนโลยีข้อมูลและการตรวจสอบ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการจับตาแก๊งโกงข้อสอบเข้ารับราชการว่า ดีเอสไออยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแก๊งโกงข้อสอบเพื่อผลักดันเข้าเป็นคดีพิเศษ ซึ่งจะมีการนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษครั้งต่อไป โดยในการสืบสวนเบื้องต้น พบว่ามีเครือข่ายโกงข้อสอบหลายเครือข่ายและเชื่อมโยงมีการแบ่งหน้าที่กันเป็นขบวนการ ดำเนินการเป็นวงกว้าง เพราะมีรายได้ดี ผู้สมัครสอบที่ต้องการใช้วิธีทุจริตจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ารับราชการขึ้นกับสนามสอบ ซึ่งมีการทุจริตตั้งแต่สนามสอบระดับ 1 (C 1) ขึ้นไป โดยเครือข่ายโกงข้อสอบจะคิดค่าใช้จ่ายในการสอบระดับละหรือซีละ 100,000 บาท ทำให้มีวงเงินหมุนเวียนในเครือข่ายโกงข้อสอบหลายหมื่นล้านบาท สำหรับผู้ที่มีผลคะแนนผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทันที ก็ยังมีรายชื่อในบัญชีรอเรียกของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า โทษของการโกงข้อสอบ หรือการทุจริตสอบ มีโทษน้อย และไม่มีโทษทางอาญา เมื่อจับได้ ก็ลงโทษเพียงตัดชื่อไม่ให้เข้าสอบอีก หากจะแจ้งข้อหาความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดก็ยากต่อการพิสูจน์ เบื้องต้นพนักงานสอบสวน อาจตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เพื่อใช้มาตรการยึดทรัพย์เข้าไปตัดวงจรการเงินทั้งขบวนการ
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวถึงพฤติการณ์ของแก๊งโกงข้อสอบว่า เครือข่ายดังกล่าวจะทำการสมัครผู้เข้าสอบพร้อมกันจำนวนมากๆโดยใช้วิธีสมัครทางอินเทอร์เน็ตในเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้เข้าสอบที่ตกลงใช้บริการทุจริตการสอบ ได้ที่นั่งสอบใกล้กัน จากการสุมตรวจสอบพบว่าในช่วงเวลา 02.00-04.00 น. มีการสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตกว่า 60 คน ทั้งนี้ ก่อนวันสอบจะมีการซักซ้อมการส่งรหัสคำตอบข้อสอบตามแผนผังที่นั่งสอบจริง เมื่อถึงวันสอบแก๊งโกงข้อสอบจะจัดส่งผู้ร่วมขบวนการที่มีประวัติการเรียนดีเข้าไปร่วมทำข้อสอบแล้วจัดส่งคำตอบมาให้ผู้เข้าสอบในเครือข่าย ทำให้ผลคะแนนการสอบมีคะแนนเท่าๆกันและมีข้อผิดที่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่เป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอจะพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้มากที่สุด ซึ่งการสอบเข้ารับราชการมีการจัดสอบอย่างต่อเนื่องในหลายสนามสอบเพื่อเข้ารับราชการใน 40 องค์กร เร็วๆ นี้จะมีการสอบปลัดอำเภอ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายแห่ง หากคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้เป็นคดีพิเศษก็จะสามารถเข้าดำเนินการกับหลายเครือข่ายที่ดีเอสไอมีข้อมูลอยู่ได้ทันที