พฤติการณ์ “สุดอุกอาจ” ของทนายความนักการเมืองดัง ที่หิ้วกล่องขนมยัดไส้เงินสด 2 ล้านบาท ห้าวหาญหวังติดสินบนผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ถึงใน “อาคารศาลฎีกา”เมื่อเช้าวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวงการตุลาการอีกครั้ง หลังคดีสินบนตุลาการภาคแรก กรณีคดียุบพรรคไทยรักไทยเพิ่งจบลงไปโดยที่จับมือใครดมไม่ได้
เดือนร้อนไปถึง นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ต้องออกโรงมาสั่งการแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาขึ้นมาทำการไต่สวนเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนเพื่อสะสางข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ก่อนภาพลักษณ์ของศาลจะต้องมัวหมองด้วยน้ำมือคนชั่วเพียงไม่กี่คน
การกระทำอุกอาจเช่นนี้ คนที่ทำต้องการอะไร ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์กันไปต่างๆนาๆบ้างก็ว่าเงิน 2 ล้านในกล่องขนมเป็นแค่ก้อนแรกเพื่อหวังลองใจ ก่อนเสนอเงินก้อนต่อไปที่มากกว่าหลายเท่าตัวในการวิ่งเต้นล้มล้างคดี หรือเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาในคดีที่ตัวเองตกเป็นจำเลย บ้างก็ว่าเป็นแผนการ “ดิสเครดิตศาล” สถาบันสูงสุดแห่งเดียวที่ยังคงเป็นที่เชื่อถือของประชาชน และเป็นเหมือนเสาหลักของชาติ ในการจัดการกับพวกทรราชโกงกินบ้านเมือง
กล่องขนม 2 ล้านเป็นของใคร?!? คนทำจะใช่ “คนบ้า” ดังที่ “นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตตุลาการ ที่ผลันตัวไปเป็นโฆษกรับใช้อดีตผู้นำระบุไว้หรือไม่ คงต้องรอให้องค์คณะไต่สวนพยานหลักฐานจนเสร็จสั้นกระบวนความเสียก่อน แต่หากจะให้คาดเดาคนที่กล้า “ทำชั่วอย่างไม่กลัวกฎหมายบ้านเมือง”เช่นนี้ คงมีแค่คนที่ใบหน้ารูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกล่องขนมเท่านั้น
ในยุคที่ บ้านเมืองลุกเป็นไฟ “ตำรวจ” ซึ่งเหมือนต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม กลับกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายเครดิตฝ่ายตรงข้ามของผู้มีอำนาจ ขณะที่ “ทนายแผ่นดิน”อย่างอัยการก็ฉายภาพของการอิงแอบแนบชิดกับฝ่ายการเมืองจนไม่กล้าขับเคลื่อนคดีทุจริตต่างๆ ที่ส่งผ่านมาจาก คตส. ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนก็เหลือเพียง “ศาลสถิตยุติธรรม” ดังนั้นเมื่อมี “คนชั่ว” กล้าท้าทายอำนาจศาลเช่นนี้ แถมยังมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนทั้งกล่อง ทั้งเงิน และภาพถ่าย เชื่อว่าศาลจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยไม่ปล่อยให้ “คนชั่ว”รายนี้รอดตัวไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่ยึดมั่นและเชื่อถือในสถาบันศาลยุติธรรมมาโดยตลอด
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ ของ นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม ที่กล่าวไว้ว่า “ นอกจากเรื่องความเป็นกลางแล้ว ความซื่อสัตย์สุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมและประชาชนเชื่อถือและศรัทธาในศาลยุติธรรม หากมีเรื่องที่ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏชัด ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเป็นการเสนอให้สินบนจริงก็ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ เพราะไม่เคยมีการเสนอให้สินบนถึงในศาลฎีกาเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน”
กรณีเช่นนี้ หากผลการไต่สวนขององค์คณะผู้พิพากษาออกมาว่าเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ถือเป็นความผิดพิเศษที่ศาลลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 6 เดือนโดยไม่ต้องมีการฟ้องคดี นอกจากนี้หากพบว่ามีเจตนามุ่งหมายติดสินบนผู้พิพากษาเพื่อวิ่งเต้นล้มคดี ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานเสนอให้สินบนต่อเจ้าพนักงานตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะต้องมีการสืบสาวราวเรื่องไปถึงตัวผู้วานใช้ให้กระทำผิดด้วย โดยเมื่อปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนเช่นนี้คาดว่ากระบวนการไต่สวนน่าจะใช้เวลาไม่น่าเกินหนึ่งสัปดาห์
แม้ในขณะนี้เริ่มมีเสียงจากฝ่ายเจ้าของเงิน ออกมาพยายามเล่นมุก “จดหมายผิดซอง” อ้างว่า กล่องขนมที่นำมาเป็นการหยิบผิด ไม่ได้หวังติดสินบน แค่คนขับรถเอากล่องเงินมาลืมไว้เท่านั้น แต่ใครกันเล่าจะเชื่อ เพราะพฤติการณ์สุดอุกอาจในรั้วศาลเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หากไม่มีเจตนาร้ายจากผู้กระทำการ มิหนำซ้ำ ยังกล้าพูดว่า ให้นำไปแบ่งๆกัน
เมื่อ ศาลอันเป็น “สถาบันสูงสุดที่ทรงความยุติธรรม” ถูก “การเมืองชั่วช้า” กระทำหยามหน้าเช่นนี้ เชื่อว่า ฝ่ายตุลาการน่าจะมี บทลงโทษที่เด็ดขาด เพื่อให้พวกชั่วเข็ดขยาดจนไม่กล้าย่ามใจมากระทำการอุกอาจเช่นนี้อีก