การประชุมผู้นำเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจในฐานะเจ้าภาพได้นำเสนอปัญหาคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักร ระบุ เป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม-อาชญากรรม
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ จริตเอก รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงวาระการประชุมของ ตร.ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพว่า ทาง ตร.ได้เสนอปัญหาสถานการณ์ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองในประเทศไทย คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย นับวันยิ่งเป็นปัญหาคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน โดยพบว่าการลักลอบเข้าเมืองมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ประกอบด้วย จุดผ่านแดนถาวร 36 ช่อง จุดผ่านแดนชั่วคราวซึ่งเป็นช่องทาง และพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่เดินทางค้าขายทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพอีก 47 จุด ช่องทางตามกฎหมายศุลกากร 49 จุด ซึ่งยังไม่รวมช่องทางธรรมชาติที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอีก 732 จุด
พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทำให้สามารถจำแนกประเภทคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาได้ 4 ประเภท คือ 1.คนต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามามากที่สุด เนื่องจากพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยพบว่ามียอดเข้ามาประมาณ 2 ล้านคน 2.กลุ่มคนต่างด้าวที่รัฐบาลมีนโยบายเฉพาะ เช่น บุคคลในที่สูง ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ชาวม้ง 3.คนต่างด้าวสัญชาติพม่า นับถือศาสนาอิสลาม ชาวโรฮิงญา ที่เดินทางเข้ามาโดยเรือประมงขนาดเล็ก เมื่อมาถึงก็จะทำลายเครื่องเรือให้เสียหาย เพราะไม่ต้องการเดินทางกลับบ้าน 4.คนต่างด้าวสัญชาติเกาหลีเหนือ โดยเข้ามาผ่านทางจีน พม่า และเหนือตอนบน
พล.ต.ต.เรืองศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า การที่มีกลุ่มคนต่างด้าวเข้ามาอย่างต่อเนื่องนี้ สร้างปัญหาด้านสังคมมากมาย ทั้งด้านความมั่นคงภายใน ด้านอาชญากรรม และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ด้านชุมชนชาวต่างด้าว ด้านสาธารณสุข ปัญหาผู้ติดตามและเด็กไร้สัญชาติ ด้านการแย่งอาชีพของคนไทย ด้านงบประมาณรายจ่ายของรัฐ โดยแนวทางการแก้ปัญหานั้น ทางตำรวจได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ โดยกรณีคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ต้องให้มีการจ้างและนำแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติเกาหลีเหนือ ต้องพยายามใช้สกัดกั้นตามแนวชายแดน คนต่างด้าวสัญชาติพม่าที่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวโรฮิงญา จะใช้มาตรการสกัดกั้น และมาตรการปราบปราม โดยการสืบสวน ตลอดจนปราบปรามจับกุมเครือข่าย และกลุ่มผู้สนับสนุน ให้ที่พักพิงชาวฮิงญาที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย