"สุนัย มโนมัยอุดม"อดีตอธิบดี DSI ยังไม่หมดกรรม! หลังตำรวจอยุธยา ยื่นต่อศาลขอให้ออกหมายจับกรณีให้สัมภาษณ์ ดีเอสไอมีหลักฐานเอาผิด"ทักษิณ"ได้ เผยศาลแพ่งเคยพิพากษายกฟ้องคดีที่"ทักษิณ"ฟ้องหมิ่น เรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้าน
วานนี้( 3 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อนุมัติหมายจับที่ จ.374/2551 ลงวันที่ 3 มิ.ย.2551 กรณีที่ พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รองผกก.สส.สภ.วังน้อย ได้ยื่นขออนุมัติหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) ที่ขัดหมายเรียกไม่มารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน กรณีถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
โดยระบุว่าให้เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวนายสุนัย มโนมัยอุดม ไปส่งที่สถานีตำรวจภูธรวังน้อย ภายในอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.2550 เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่ไม่เกินวันที่ 19 มิ.ย.2560 ลงชื่อนายอิทธิพล โชขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าการออกหมายจับในครั้งนี้เนื่องจากสมัยที่นายสุนัย มโนมัยอุดม ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์หนังสือพิมพ์เมื่อประมาณเดือน ก.ค.2550 เกี่ยวกับคดีต่างๆของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าดีเอสไอมีพยานหลักฐานสามารถเอาผิดได้ ซึ่งถือเป็นการชี้นำ เนื่องจากคดีต่างๆในเบื้องต้นตามหลักกฏหมายถือว่าผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ จึงมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความที่ สภ.วังน้อย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมส่งหมายเรียกไปให้นายสุนัยทราบ แต่ได้รับการชี้แจงเป็นหนังสือว่าไม่ประสงค์มาพบพนักงานสอบสวน เนื่องจากไม่มีความผิด จึงมีการขออนุมัติหมายจับ ซึ่งสาเหตุการออกหมายจับน่าจะเป็นเหตุมาจากการขัดหมายเรียกของเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษายกฟ้องในคดีแพ่ง ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นจำเลย ฐานละเมิดเรียกค่าเสียหาย 1,500 ล้านบาท กรณีที่นายสุนัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการสอบสวนในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 19 มิ.ย.-17 ส.ค. 50 เนื่องจากเห็นว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นเป็นตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำการละเมิด เป็นเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องรับผิดชอบ โจทก์ต้องยื่นฟ้องกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยตรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องจำเลยเป็นการเฉพาะตัว ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 ให้พิพากษายกฟ้อง