xs
xsm
sm
md
lg

“ธงชาติ-โชติศักดิ์” ตร.กระเหี้ยนกระหือรือ หรือกระตือรือร้น!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

จารบุรุษ


มื่อครั้งยังเป็นนกกระจอกประจำกรมตำรวจเก่า เวลาถูก บก.สั่งให้ติดตามความคืบหน้าเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็มักจะซักถามข้อเท็จจรืงเบื้องต้น ไปยังโฆษก ตร. หากประเด็นไหน เรื่องไหน ที่โฆษก ตร.ยังไม่กระจ่าง หรือยังไม่ทราบข้อเท็จจริง (ยังไม่ได้รับรายงาน) โฆษก ตร.ก็จะโทรศัพท์เช็กไปยังต้นตอของเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นปกติธรรมดา ของผู้ที่มาดำรงตำแหน่งโฆษก ตร. จะมีเพาเวอร์ที่จะโทรศัพท์ไปสอบถามข้อเท็จจริงของเรื่องนั้นๆ ตามต้นตอต้นสังกัดของเรื่องได้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตาม บก. ตามโรงพักต่างๆ ทั่วประเทศ ก็ล้วนเกรงใจโฆษก ตร.กันทั้งนั้น ดังนั้น หากจะต้องการข้อมูลอะไร โฆษก ตร.ก็สามารถที่จะสั่งให้อธิบายเรื่องนั้นๆที่เกิดขึ้นได้ทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษร ที่เกริ่นมานี้ ไม่มีนัยอะไร ขอบ่นแก้เบื่อไปอย่างนั้น

วันก่อน พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วยผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษกตร.) ออกมาแถลงถึง กรณีมีการนำธงชาติไทยติดชื่อ “THAKSIN” ที่ไปปรากฏบนอัฒจันทร์ในสนามฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี ที่ประเทศอังกฤษโน่นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติสนใจเรื่องนี้มาก ล่าสุด พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วย ผบ.ตร.งานสืบสวนสอบสวนได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานกฎหมายและสอบสวน กองคดี เพื่อหารือและมีข้อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ซึ่งมองว่าเข้าข่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 มาตรา 53 ที่ว่าห้ามประกอบเครื่องหมาย อักษร ข้อความต่างๆ ในผืนธงโดยไม่สมควรซึ่งมีโทษจำคุก

“จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อมวลชน หากพิจารณาตาม ป.อาญามาตรา 118 จะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษ คือ ต้องการเหยียดหยามประเทศ แต่การพิจารณาในขั้นต้น ที่ประชุมมีความเห็นว่ายังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ที่ว่าเจตนาเหยียดหยามประเทศ แต่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ธงเท่านั้น ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ธง ไม่สามารถเอาผิดในกรณีที่กระทำนอกราชอาณาจักรได้ มีเพียงความผิดตาม ป.อาญามาตรา 118 เท่านั้นที่เอาผิดนอกราชอาณาจักรได้ ซึ่งอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการ” โฆษก ตร.กล่าว และว่า ถึงแม้การพิจารณาของคณะทำงานของ ตร.จะมีความเห็นเบื้องต้นว่าไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นเพียงความเห็นจากการพิจารณาข้อมูลจากข่าวเท่านั้น ยังไม่ถึงที่สุด และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการชี้นำพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ ต่อกรณีดังกล่าว พ.ต.อ.โรม ว่องสกุล รอง ผบก.กองคดี (คด.) ปฏิบัติราชการแทน ผบก.คด. มีบันทึกข้อความด่วนที่สุดที่ 0031.202/1048 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 ถึง พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด ผู้ช่วย ผบ.ตร. (สส 1) ระบุว่า รายงานเรื่องที่ประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติตามที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2551 ซึ่งมีภาพธงชาติไทยปักชื่อ “ทักษิณ” ปรากฏบนอัฒจันทร์สนามซิตีออฟแมนเชสเตอร์ สเตเดียม ซึ่งได้เชิญประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พล.ต.ท.วันชัย พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี ผบช.กมส. พล.ต.ต.วิชัย รัตนยศ ผบก.ประจำ สง.ผู้ช่วย ผบ.ตร.สส.1 พ.ต.อ.ชวนชัย ลิ้มประเสริฐ รอง ผบก.ประจำ สง.ผู้ช่วย ผบ.ตร.สส.1 พ.ต.อ.เสริคิด สิทธิชัยการ รอง ผบก.อก.บช.ก. และ พ.ต.อ.โรม ว่องสกุล รอง ผบก.คด.

บันทึกข้อความระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีกฎหมายต้องนำมาพิจารณาคือ ป.อาญา มาตรา 118 และ พ.ร.บ.ธง ซึ่งตาม ป.อาญานั้น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าว ยังเห็นว่าไม่เป็นการเหยียดหยามประเทศแต่อย่างใด ขณะที่ พ.ร.บ.ธง มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 53 (1) แต่กรณีนี้เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร (ที่ประเทศอังกฤษ) และการกระทำนั้น จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร (กฎหมายไทย) ต้องเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 (1/1) (1) (2) และ (3) หรือมาตรา 8 (1)-(13) แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.ธง ไม่ใช่ความผิดที่บัญญัติไว้ใน ป.อาญา มาตรา 7 หรือมาตรา 8 ดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจรับโทษในราชอาณาจักรได้

บันทึกระบุอีกว่า เรื่องการกล่าวโทษตาม ป.วิอาญามาตรา 2 (8) เมื่อมีผู้มากล่าวโทษ พนักงานสอบสวนก็ต้องรับคำกล่าวโทษไว้ทำการสอบสวน แต่กรณีนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร อำนาจการสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาราชการแทน ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ส่วนอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวนของตำรวจทำการสอบสวนหรือไม่ ก็เป็นดุลพินิจของอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทน ซึ่งมติที่ประชุมจึงเห็นว่าเมื่อมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ก็ต้องรับคำร้องทุกข์ไว้ทำการสอบสวนเบื้องต้น แล้วส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุด (ผ่าน ตร.) เพื่อทำการสอบสวนต่อไป

ถ้อยแถลงของ พล.ต.ท.วัชรพล และนทึกข้อความที่มีต่อกรณีดังกล่าวนั้น ออกมาไม่กี่ชั่วโมง ภายหลังจากที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เดินทางไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เมื่อช่วงสายวันเดียวกันนั้น เรื่องนี้ แม้พล.ต.ท.วัชรพล ยืนยันว่า การออกมาแถลงต่อกรณีดังกล่าว ไม่ได้เป็นการชี้นำพนักงานสอบสวน แต่มีข้อสังเกตว่า เหตุใดเรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงรีบออกมาแถลงต่อกรณีที่เกิดขึ้น ไม่อยากจะฟันธงตรงเผงว่า เป็นเพราะเรื่องนี้ มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ หนำซ้ำ สำนักงานกฏหมายและสอบสวน กองคดี ยังระบุชัดเจนว่าเรื่องนี้ผิด แต่เอาผิดกับคนทำไม่ได้ เพราะอยู่นอกราชอาณาจักร

ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า เรื่องนี้ ตำรวจกระตือรือร้น หรือกระเหี้ยนกระหือรือที่ออกมายืนยันต่อกรณีดังกล่าว ในขณะเดียวกัน กับคดีที่ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ถูกแจ้งความในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากไม่ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ โดยเหตุเกิดมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2550 แต่เมื่อผ่านกระบวนการของตำรวจแล้ว ตำรวจเรียกนายโชติศักดิ์ มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2551 ที่เพิ่งผ่านนี่เอง ทั้งที่เรื่องนี้ ตำรวจควรจะกระตือรือร้น เร่งรีบดำเนินการ เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่ให้ใครนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง แต่กลับใช้เวลาเสียเนิ่นนานชนิดเกือบข้ามปี ส่วนต่อกรณีธงชาติ เพียงแค่ไม่ถึงวัน ตำรวจออกมาฟันธงตรงเผงว่าผิด แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างนี้จะเรียกว่า “กระตือรือร้น” หรือ “กระเหี้ยนกระหือรือ” ดี !?!

ธงชาติไทยที่สนามฟุตบอลของแมนฯซิตี้
นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น