“วัชรพล” เผย ศาลอังกฤษไม่อนุญาตประกันตัว 9 คนไทยค้ามนุษย์ และทั้งหมดไม่ประสงค์ขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในอังกฤษ ระบุ หากเหยื่อที่ถูกล่อลวงกลับเข้าไทย ตร.จะประสานสอบเพื่อขยายผลจับเครือข่ายตัวการใหญ่ หากพบข้อมูลเกี่ยวพันภายในไทย เป็นอำนาจทางการไทยสอบจับกุมดำเนินคดี แม้เหตุเกิดนอกประเทศแต่รับโทษในไทยได้
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร.กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด ประเทศอังกฤษ ได้จับกุมผู้ต้องหาชาวไทย จำนวน 9 คน ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดค้าผู้หญิงในลอนดอน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการให้บริการทางเพศ และสมคบคิดควบคุมโสเภณี เพื่อให้ได้มาด้วยทรัพย์สินและการฟอกเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ตำรวจสากลกองการต่างประเทศ ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษ ผ่านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เบื้องต้นจากการตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลทางทะเบียนราษฎรแล้ว พบว่า ทั้ง 9 คนน่าจะเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งต่างแสดงเจตจำนงว่าไม่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยประจำอังกฤษ โดยเดิมทีทางศาลอังกฤษก็ให้ประกันตัว แต่ล่าสุดปรากฏว่าไม่อนุญาตให้ประกันตัวแล้ว โดยให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไว้ ส่วนกระบวนการสอบสวนนั้นจะเป็นหน้าที่ของตำรวจอังกฤษ แต่จากการตรวจสอบประวัติอาชญากรแล้ว ไม่พบว่าเคยมีประวัติอาชญากรในประเทศไทยมาก่อน
สำหรับขั้นตอนการประสานงานที่เกี่ยวข้องกับตำรวจไทย อาจจะมีบางส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การสืบสวนหาผู้สมรู้ร่วมคิดในการร่วมกระทำความผิด เพราะคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ ถ้าเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็ต้องมีการขอความร่วมมือกัน ในการสอบถามรายละเอียด ถ้ามีผู้สมรู้ร่วมคิดในประเทศไทย เราก็สามารถที่จะสอบสวนได้ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย และอาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ค้าหญิงและเด็ก พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาเราถือว่าความผิดนี้ แม้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรแต่ต้องรับโทษในราชอาณาจักรได้ เพราะฉะนั้น หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางอังกฤษแล้ว หากมีข้อมูลเกี่ยวพันมาถึงภายในไทย ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของทางการไทยที่จะทำการสอบสวนสืบสวนจับกุมดำเนินคดีต่อไปได้ ถือว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยด้วย
พล.ต.ท.วัชรพล กล่าวถึงขั้นตอนการสอบสวนว่า เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดเป็นผู้สอบสวน โดยสามารถมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดูแลได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดูแล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างการสืบสวนหาข้อมูลไว้ก่อน แต่หากพบผู้กระทำผิดก็จะไปสู่ขั้นตอนการสอบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป ซึ่งได้มอบให้ตำรวจสากลกองการต่างประเทศ และกองบังคับการการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี เข้าไปดูแล