กัลยา คงยั่งยืน
เพราะเยาวชนคืออนาคตของชาติ ที่ไม่ควรเอาชีวิตมาเป็นเครื่องทดลองตามท้องถนน การท้าทายมัจจุราชด้วยความเร็วของรถจักรยานยนต์ หรือ บิดเร่งเครื่องเสียงดังสร้างความเดือนร้อนรำคาญแก่ชาวบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรกระทำ
เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.น.1 กว่า 200 นาย ปิดถนนล้อมจับ เยาวชนชายหญิงร่วม 300 คน ได้รถจักรยานยนต์ของกลางกว่า 150 คัน บนถนนพระราม 6 เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา นับเป็นการจับกุมแก๊งซิ่งจำนวนมากในรอบหลายปีของนครบาล เมื่อตำรวจเริ่มกวาดล้างอย่างจริงจัง ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบรับลูกอย่างต่อเนื่อง จนเหล่าเยาวชนบางส่วนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ถูกควบคุมตัวเข้าส่งสถานพินิจหลายแห่งที่มีอยู่
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลความประพฤติของเหล่าหนุ่ม-สาว ที่อ่อนเยาว์ ไม่เข้าใจการใช้ชีวิต ยังคงแสวงหาความสุขสนุกสนานบนความทุกข์ของชาวบ้านนั้น เพื่อให้เหล่าเยาวชนเหล่านี้เข้าใจความหมายของชีวิต การใช้ชิวิต และการเข้าใจชีวิต โครงการ “ช็อกเทอราปี” จึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง
โครงการค่ายเยาวชนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงบวก หรือ “ช็อกเทอราปี” เป็นหนึ่งในโครงการที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นำมาใช้ฝึกอบรมเยาวชน “แก๊งซิ่งจักรยานยนต์” ที่ยึดถนนหลวง และทางสาธารณะเป็นสนามแข่งขันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และล่าสุดก็ได้นำมาใช้กับเยาวชน ทั้ง “เด็กแว้น และสาวสก๊อย” กว่าร้อยคนที่ถูกจับกุม
สถานพินิจฯได้นำโครงการ “ช็อกเทอราปี” มาใช้กับทั้งเยาวชนชายที่ศูนย์แรกรับเด็ก และเยาวชนชายบ้านเมตตา 74 คน และสถานแรกรับเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี อีก 34 คน โดยมีการแบ่งกิจกรรมออกเป็น 5 วัน ในช่วง 2 วันแรกจะเป็นการตรวจสอบประวัติเยาวชน ว่า มีเยาวชนคนใดเคยทำผิดในลักษณะนี้มาแล้วหรือไม่ ส่วนการอบรมอีก 2 วันต่อมาก็จะใช้นักจิตวิทยาเข้ามาพูดคุยกับเยาวชนเพื่อหาสาเหตุจูงใจให้เด็กกระทำผิด และนำศิลปะบำบัดมาใช้ขัดเกลาจิตใจ ให้ทำกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับทักษะชีวิตการตัดสินใจควบคู่กับการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร
ส่วนในการอบรมวันสุดท้ายก่อนอนุญาตให้ประกันตัวได้นั้น จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครอง เรียกว่า “ครอบครัวสัมพันธ์” ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปด้วยความซาบซึ้ง พ่อ แม่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกได้อย่างไม่เคอะเขินลูกกราบเท้าพ่อแม่พร้อมกับให้สัญญาเป็นหมั้นเหมาะว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก
น้องโรจน์ หนึ่งในเยาวชนที่เข้าโครงการช็อกเทอราปี กล่าวว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมในบ้านเมตตาตลอด 5 วัน ทำให้รู้สึกสำนึกผิดและเสียใจกับการกระทำของตนเองอย่างมาก ทำให้เรียนรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงผลกระทบต่อตนเอง เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วยความรักความสามัคคี และขอสัญญาว่า หลังจากนี้ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแข่งรถอีก เลิกเรียนแล้วจะกลับบ้านให้เร็วขึ้น
ส่วนผู้ปกครองของเยาวชนหลายคนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจที่เห็นลูกมีระเบียบวินัยมากขึ้น โดยจากนี้จะดูแลลูกอย่างใกล้ชิดให้เวลากับลูก เอาใจใส่ ไม่สนับสนุนให้ลูกออกไปดูการแข่งรถหรือยุ่งเกี่ยวกับการแข่งรถซิ่ง และจะรับผิดชอบต่อการกระทำของลูก
น.ส.กนกวรรณ์ ศรีบุญมา นักจิตวิทยา 7 ว ของบ้านเมตตา เปิดเผยว่า หากสังเกตพฤติกรรมของเยาวชนที่ร่วมทำกิจกรรมช็อกเทอราปี จะพบว่า 5 วันผ่านไปพฤติกรรมของเยาวชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ที่เห็นเด่นชัดคือเด็กๆ จะดูสงบนิ่ง และมีวินัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าทุกคนยอมรับตัวเองยอมรับในการกระทำความผิด มีความรับผิดชอบ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากการกระทำของตนเอง เชื่อว่า เมื่อเยาวชนที่อาจเคยหลงผิดรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและยอมรับในความผิดจะไม่กลับไปกระทำความผิดเดิมซ้ำอีกอย่างแน่นอนและการนำวิธีการนี้มาใช้จากครั้งผ่านๆ มาก็พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ไม่กระทำความผิดซ้ำ
แม้ว่า โครงการ ช็อกเทอราปี จะมีวัตถุประสงค์ที่ดี และประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเยาวชนที่ผ่านโครงการส่วนใหญ่จะไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็หันมาเอาใจใส่ลูกหลานมากขึ้น ไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกไปเกี่ยวข้องกับการตกแต่งรถจักรยานยนต์และเข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งซิ่งสร้างสร้างความเดือดร้อนสังคม
ที่สุดแล้วหากเยาวชนกลุ่มนี้ยังกลับไปมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก ก็จะต้องกลับเข้าสู่วงจรเดิม และหากถูกจับกุมซ้ำคงไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอีกแล้ว หรือไม่เยาวชนที่กลับไปเป็นแก๊งซิ่งอีกก็อาจจะไม่มีชีวิตอยู่รอดจนถึงวันที่ถูกตำรวจจับก็เป็นได้