สามีและลูกสาว เหยื่อ “อินเดียนาร็อค” ยื่นฟ้อง “สวนสยาม” เรียกค่าเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ฐานกระทำการโดยประมาท ทำให้เสาหลักครอบครัวเสียชีวิต ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 24 มี.ค.ปีหน้า ด้าน “สวนสยาม” เผยมอบเงินช่วยเหลือไปแล้ว 6 แสนบาท ถ้าญาติผู้เสียชีวิตไม่พอใจก็ให้ว่ากันในชั้นศาล
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี นายชูเดช, น.ส.สุพัชรี และ ด.ญ.สุภากร อรรถฮาด ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศุภลักษณ์ ทัดทอง, นายทศพล มากอุสาห์ และบริษัท อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม จำกัด และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 3,036,000 บาท
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ นางพชฎาพร คงกระเรียน โจทก์ที่ 2 และ 3 เป็นบุตร เมื่อวันที่ 23 ต.ต.2550 นางพชฎาพร ได้เข้าไปเที่ยวที่สวนสยาม เวลาประมาณ 11.30 น.โดยได้ซื้อบัตรเข้าไปเล่นเครื่องเล่นอินเดียนาร็อค หรือเครื่องเล่นล่องแก่ง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณสวนสยาม ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้ครอบครองและควบคุมเรื่องเล่น จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปล่อยให้เครื่องเล่นล่องแก่งดังกล่าวไหลลงมาตามรางซึ่งมีความสูงประมาณ 20 เมตร ซึ่งด้านล่างจะมีน้ำรองรับแรงกระแทก ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมเครื่องดูดน้ำ และเครื่องปั่นไฟ และหากมีน้ำเพียงพอในการรองรับการกระแทกตามมาตรฐานที่ได้ปฏิบัติมาแล้วจำเลยที่ 2 ก็จะให้สัญญาณจำเลยที่ 1 ทำการปล่อยเครื่องเล่น แต่หากมีเหตุคับขัน จะต้องส่งสัญญาณเตือนให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อหยุดการปล่อยเครื่องเล่น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังคอยดูสัญญาณกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 และ 2 หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่โดยได้กระทำการโดยประมาท ปล่อยเครื่องเล่นล่องแก่งลำที่นางพชฎาพรนั่งอยู่ ไหลตกลงมาโดยได้ตรวจสอบว่าเครื่องเล่นดังกล่าว และรางน้ำไม่สามารถใช้งานได้ดี และไม่ได้ตรวจสอบระดับน้ำที่รองรับการกระแทกของเครื่องเล่น จึงเป็นเหตุให้เครื่องเล่นล่องแก่งไหลลงมาชนกันอย่างแรงเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย และทำให้นางพชฎาพร ถึงแก่ความตาย
การกระทำของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้ง 3 ได้รับความเสียหายโจทก์จึงนำคดีมาฟ้องศาล ขอให้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าขาดอุปการะ ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในฐานะสามีโดยชอบด้วยกฎหมายคิดเป็นเงินจำนวน 1,872,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 204,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 3 เป็นเงินจำนวน 960,000 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 3 และ 4 ในฐานะเครื่องรับประกันภัยของจำเลยที่ 1 และ 2 ต้องรับผิดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 3 ในฐานะทายาทโดยชอบของนางพชฎาพร โจทก์ได้ติดตามทวงถามแต่โจทก์เพิกเฉย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้บังคับค่าเสียหายจากการทำละเมิดดังกล่าว รวมเป็นเงินจำนวน 3,036,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ โจทก์ยังขอยื่นฟ้องอย่างคดีอนาถา โดยให้ศาลงดเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นฟ้องทางแพ่ง ศาลมีนบุรีรับคำฟ้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 มี.ค.2551 เวลา 09.00 น.
ภายหลัง นายชูเดช กล่าวว่า การที่ภรรยาเสียชีวิต ทำให้ขาดค่าไร้อุปการะ เนื่องจากภรรยา เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกทั้งสอง หลังเกิดเหตุตนได้รับเงินค่าช่วยเหลือจำนวน 30,000 บาท และทางสวนสยามจะรับปาก ช่วยเหลือเรื่องค่าเล่าเรียนของลูกทั้งสองจนจบปริญญาตรี แต่ตนเห็นว่าเป็นจำนวนน้อยเกินไป โดยได้มีการเจรจากันไปแล้วสองครั้ง แต่อีกฝ่ายบ่ายเบี่ยงโดยตลอดจึงต้องนำคดีมาฟ้องศาล
ขณะที่ นายวิวัฒน์ ชำนาญธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม จำกัด กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับ บิดามารดา ของนางพชฎาพร แล้ว ไปจำนวน 600,000 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าทำขวัญ ค่าเล่าเรียนจนจบชั้นปริญญาตรี ของบุตรสาวของสามีใหม่ของนางพชฎาพร รวมทั้งมอบเงินเป็นค่าเล่าเรียนให้กับบุตรสาวจากสามีเก่า (นายชูเดช) เช่นเดียวกัน ถ้า นายชูเดช ไม่พอใจก็ให้ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรมให้ศาลเป็นผู้ตัดสินและให้บริษัทประกันเป็นไปตามข้อเท็จจริง