นักวิชาการร่วมวิเคราะห์นโยบายปราบปรามยาเสพติด แนะวางกลไกเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านผู้แทน ป.ป.ส.ระบุความสูญเสียจากสงครามยาเสพติดมาจากฝ่ายบริหารมอบนโยบายไม่ชัดเจน ขณะที่คตน.ระบุ ฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ มีถึง 1,400 ศพ ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
วันนี้ (27 พ.ย.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายปราบปรามยาเสพติด และการนำนโยบายไปปฏิบัติจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) เป็นประธานการประชุมระดมความคิดเห็นถึงมาตรการป้องกันทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยมีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและนิติศาสตร์กว่า 50 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
นางจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติในทางไม่ถูกต้อง ว่า ควรจะมีการปรับโครงสร้างและกลไกในทางบริหารไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติรับคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และควรมีการกำหนดจรรยาบรรณความรับผิดชอบของบุคลากรในการบวนการยุติธรรม ในส่วนกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าโดยเฉพาะคดียาเสพติดควรจัดตั้งเป็นแผนกคดียาเสพติด เพื่อให้การพิจารณคดีมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจต้องนำมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญามาปรับใช้ เช่น หลักการว่าด้วยการป้องกันการวิสามัญฆาตกรรม และการลงโทษประหารชีวิตที่ไร้เหตุผล ซึ่งยูเอ็นมีข้อห้ามชัดเจนไม่ให้รัฐบาลออกคำสั่งหรือยุยงส่งเสริมให้บุคคลใดไปประหารชีวิตบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผลและรวบรัด รวมถึงการกำหนดความผิดทางอาญาต่อผู้ที่ใช้กำลังบังคับให้บุคคลหายสาบสูญทุกรูปแบบ
ด้าน นายกุลพล พลวัน อัยการอาวุโส กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานพบว่าคดีวิสามัญฆาตกรรมสอบสวนไม่ยาก เพราะผู้ลงมือทำรับสารภาพว่าเป็นคนยิง แต่คดีฆ่าตัดตอนที่ตำรวจบอกว่าเป็นการฆ่ากันเองเพื่อตัดตอนของนักค้ายาเสพติด และไม่สามารถระบุตัวคนร้าย คดีในลักษณะนี้ตรวจจะทำสำนวนแบบแผ่วบางแล้วของดการสอบสวน อัยการสั่งสอบเพิ่มก็ไม่เคยได้อะไร ดังนั้น 2,500 ศพ จากสงครามยาเสพติดคงรื้อลำบากเพราะไม่มีพยานสิ่งที่ทำได้มีแค่ระวังป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ผู้มีอำนาจต้องระวังการใช้นโยบายปราบปรามขั้นเด็ดขาด
ขณะที่ นายอุทัย อาทิเวช ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและวิจัยมาตรการทำความเข้าใจต่อนานาประเทศ กล่าวว่า การชี้แจงทำความเข้าใจต่อต่างประเทศต้องมีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายที่เร่งด่วนของผู้มีอำนาจก็เป็นเหตุให้เกิดการเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงานได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลงานของ คตน.จะชี้แจงกับต่างประเทศให้เข้าใจได้ สำหรับเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติขอให้หลีกเลี่ยงคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายโดยคำนึงเสมอว่าผู้สั่งวันหนึ่งก็ไปแต่กฎหมายและคดีจะติดตัวผู้ปฏิบัติไปตลอด แม้ว่าการขัดคำสั่งจะทำให้เราไม่อาจก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน แต่อย่างน้อยเราจะนอนตาหลับได้หลังเกษียณ
ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระบุว่าจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 1 ของ คตน.พบว่า การเสียชีวิต 2,500 ศพในช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย.2546 พบว่า 1,400 ศพ เป็นการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีเพียง 1,100 ศพเท่านั้น ที่ผู้ตายมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยการเสียชีวิตเกิดขึ้นมากในช่วงเดือน ก.พ.และค่อยๆ ลดลงในเดือน มี.ค.และ เม.ย.เนื่องจากในช่วงแรกที่มีการประกาศนโยบายขาดความชัดเจน จึงทำให้มีการสื่อความหมายในทางที่ผิด เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดระดับชุมชนและหมู่บ้านจนไปถึงการลดเป้า ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติคิดว่าทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลตามข้อสั่งการ คือลดเป้านักค้ายาเสพติดให้ได้ตามกำหนด
พ.อ.ปิยวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)กล่าวว่าคดีฆ่าตัดตอนหาหลักฐานได้ยากหลายคดีจากการลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนของ ดีเอสไอ ก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ บางคดีภรรยาเห็นสามีถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถกระบะของทางราชการไป แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้สามีของเธอก็ยังเป็นบุคคลสูญหายจนถึงทุกวันนี้