จารบุรุษ
ประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา และครบกำหนด 30 วันในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันแรกที่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดหน่วยงานและเขตความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการในสังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 มีผลบังคับใช้
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีตำรวจ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะสถานีตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 1,361 สถานี โดยให้ตัดคำว่า อำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบล ออกจากชื่อสถานีตำรวจภูธร และให้ใช้ชื่อเรียกในลักษณะเดียวกันทั้งหมด เหมือนตำรวจนครบาลเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนในการเรียกชื่อสถานีตำรวจ เช่น สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการ (สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ) เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ(สภ.เมืองสมุทรปราการ) สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอบางเสาธง (สภ.กิ่งอ.บางเสาธง) ให้เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง(สภ.บางเสาธง) และสถานีตำรวจภูธรตำบลสีสุก (สภ.ต.สีสุก) เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรสีสุก (สภ.สีสุก) ยกเว้นสถานีตำรวจภูธรในเขตปกครองพิเศษ เช่น สถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยา(สภ.ต.พัทยา) เปลี่ยนเป็น สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา (สภ.เมืองพัทยา)
การเปลี่ยนแปลงชื่อสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศนั้น นัยว่า เพื่อให้รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นภารกิจหลักสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนบริการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอำนวยความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน รวมทั้งเพื่อให้สถานีตำรวจภูธรมีชื่อเรียกเป็นไปในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ
นอกเหนื่อจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวแล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 530/2550 ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง รอง ผกก. ที่ทำหน้าหัวหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งมี 253 แห่งเป็น สารวัตรใหญ่ทั้งหมด และยังมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 655/2550 ลงวันที่ 17 ต.ค.2550 กำหนดหัวหน้าสถานีตำรวจมี 3 ระดับ คือ ผู้กำกับการ (ผกก.) คุมโรงพักสภ.อ.เดิม สารวัตรใหญ่ (สวญ.)คุมโรงพักสภ.กิ่งอ.เดิม และสารวัตร (สว.) คุมโรงพักสภ.ต.เดิม
ยังรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเช่นกันว่า เมื่อเปลี่ยนชื่อของสถานีตำรวจทั่วประเทศแล้ว จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับตัวบุคคลที่อยู่หรือสังกัดในโรงพักนั้นๆหรือไม่ เรื่องนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ระบุชัดเจนว่า ผบ.ตร.ได้กำชับให้ทุกสถานีตำรวจที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีภายใน 10 วัน หากพบว่ามีประชาชนมาร้องทุกข์ว่าไม่ได้รับความสะดวกก็จะมีการคาดโทษหัวหน้าสถานี ถึงขั้นถูกปรับย้ายออกนอกพื้นที่ เพราะถือว่าหัวหน้าสถานีไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และตั้งแต่วันนี้(26 ต.ค.) หัวหน้าสถานีต้องพาลูกน้องลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบไม่ใช่ทำงานแต่ในห้องแอร์ โดยจะให้ทางจเรตำรวจติดตามประเมินผล รายงานให้ ผบ.ตร.ทราบ ก็อยากทราบเหมือนกันว่าหัวหน้าสถานีคนใดที่จะถูกลงโทษเป็นคนแรก
นอกเหนือจากการเปลี่ยนชื่อสถานีตำรวจใหม่แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร. มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ 0004.25/ว138 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระบุไว้ตอนท้ายบันทึกว่า "สำหรับตำแหน่ง ผกก.หัวหน้าสถานีตำรวจนั้น เมื่อดำรงตำแหน่งติดต่อกันครบ 4 ปี ให้โยกย้ายทุกราย เว้นแต่กรณีจำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องให้ ตร.พิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม ในตำแหน่งระดับรองผกก.ลงมานั้น ให้จัดเตรียมข้อมูลไว้ก่อน เพื่อรอ ตร.กำหนดห้วงเวลาอีกครั้ง"
ดังนั้น นายตำรวจระดับผกก. ที่อยู่โรงพักมาครบ 4 ปี หรือเกิน 4 ปี ย่อมต้องรู้ตัวเองได้แล้วว่า ต้องเตรียมเพ็กกระเป๋า เก็บของหาที่อยู่ใหม่ได้ แม้บัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายจะยังไม่โผล่หรือแพลมออกมาให้เห็นหน้าค่าตากันก็ตาม ซึ่งเมื่อมองตามเนื้อผ้า ถือว่า นโยบายดังกล่าว น่าจะเหมาะสมอย่างยิ่งกับนายตำรวจระดับผกก. เนื่องจาก หากอยู่มาครบ 4 ปี แต่ไม่มีอะไรพัฒนา ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชนในพื้นที่ ก็ไม่สมควรที่จะอยู่ต่อไป และไม่สมควรที่จะให้ไปอยู่ในหน่วยงานที่ต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสประชาชนด้วย แต่หากผกก.ที่มุ่งมั่นทำงาน พัฒนาโรงพัก สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว หากจะให้ย้ายไปอยู่โรงพักอื่น เพื่อการเดินหน้าพัฒนาต่อ ก็น่าเหมาะสม ด้วยโรงพักเดิม น่าจะอยู่ตัวแล้ว แต่หากจะมองว่า จะอยู่เพื่อผลประโยชน์ในพื้นที่ต่อ ก็ควรที่จะเตะโด่งไปให้ไกลสุดกู่
เมื่อมีการปรับเปลี่ยนชื่อ ปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารแล้ว หากตำรวจบางนาย ยังไม่ยอมเปลี่ยนใจที่จะกลับมาเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ก็เชื่อว่า คนที่ชื่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อาจจะมีมาตรการเฉียบขาดออกมาจัดการกับบรรดาตำรวจนอกแถวเหล่านี้แน่นอน แม้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะดำรงอยู่ในตำแหน่งผบ.ตร.เพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็เชื่อว่า รากฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะค่อนข้างมั่นคง นำพาพลังศรัทธาของประชาชนกลับมาสู่ผู้ที่แต่งเครื่องแบบสีกากีทุกระดับชั้นได้ เว้นแต่สีกากีผู้นั้น เป็นตำรวจก็เพียงแค่เครื่องแบบ แต่จิตใจที่ไม่ยอมเปลี่ยน ยังคงปฏิบัติตนเช่นเดิม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมทั้งยังคงฝักใฝ่ในทางตรงกันความกับความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ก็คงเป็นได้เพียง"โจรในคราบสีกากี"ต่อไปเท่านั้น