สืบพยานจำเลยคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ ทนายบรรณพจน์ – หญิงอ้อ ส่ง อดีตนิติกร ซี 9 สำนักกฎหมาย สรรพากรที่ถูกไล่ออก เบิกความยัน วินิจฉัยโอนหุ้นโดยเสน่หา เนื่องในพิธีโอกาสตามประเพณีไม่เสียภาษีอ้างหลักและเจตนารมณ์ประมวลรัษฎากร ดูเจตนาผู้ให้ไม่เน้นช่วงเวลาไม่จำกัดวงเงิน ปฏิเสธไม่เคยรับประโยชน์ตอบแทนในการวินิจฉัย
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานจำเลยคดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ที่ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร บ.ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 546 ล้านบาท จากหุ้น 4.5 ล้านหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบายอันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1)(2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
โดยวันนี้ ทนายความจำเลย นำ น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ เจ้าหน้าที่ระดับ 9 นิติกรสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่คณะกรรมการตรวจสอบวินัยและกรมสรรพากร มีคำสั่งให้ไล่ออกตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบและเรียกชำระภาษีการโอนหุ้นจากจำเลยที่ 1 ที่เคยยื่นแบบประเมินภาษีเงินได้ประจำปี 2540 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2541 ซึ่งจำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นมาจากจำเลยที่ 2 มูลค่า 738 ล้านบาท
ทั้งนี้ น.ส.โมรีรัตน์ พยานเบิกความว่า หลังจากที่สำนักกฎหมายได้รับเรื่องจากสำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ให้วินิจฉัยเพื่อมีความเห็นข้อกฎหมายที่การตรวจสอบภาระชำระภาษีการโอนหุ้นของนายบรรณพจน์ สรุปว่า เป็นการให้โดยการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาส แห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเข้าข้องดเว้นการชำระภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(10) เมื่อพยานพิจารณาเรื่องได้มีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยการวินิจฉัยใช้หลักตามเจตนารมณ์ของประมวลรัษฎากร ไม่ใช่ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งได้นำแนวคำพิพากษาศาลฎีกาและแนววินิจฉัยการประเมินภาษีของกรมสรรพกรมาร่วมพิจารณาประกอบด้วย
นอกจากนี้ น.ส.โมรีรัตน์ ยังเบิกความถึงรายละเอียดการวินิจฉัยด้วยว่า การให้โดยเสน่หานั้นพยานเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการให้ซึ่งตรงกับวันพิธีนั้น แต่จะต้องแสดงความชัดเจนว่าขณะที่ให้ ผู้ให้มีเจตนาอย่างไร ซึ่งคดีนี้พบว่า ขณะนั้น คุณหญิงพจมาน แสดงความชัดเจนถึงเจตนาโอนหุ้นว่าให้ในโอกาสที่นายบรรณพจน์ สมรส และมีบุตรคนแรก โดยการสมรสถือเป็นพิธีโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่มีการให้ของขวัญต่อกันได้ ส่วนเรื่องจำนวนเงินนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) ไม่ได้จำกัดวงเงินไว้ต้องเป็นจำนวนเงินเท่าใดจึงจะเข้าข้อยกเว้น โดยเมื่อสำนักกฎหมายวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ได้เสนอเรื่องให้นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร (ในขณะนั้น) ซึ่งรับผิดชอบดูแลสำนักกฎหมาย ลงนามเห็นชอบก่อนส่งเรื่องกลับให้สำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร อย่างไรก็ดีการสรุปความเห็นข้อกฎหมายนั้นยังไม่ถือว่าความเห็นของสำนักกฎหมายจะเป็นข้อยุติ โดยการพิจารณานั้นสำนักตรวจสอบภาษีสามารถมีความเห็นโต้แย้งได้
เมื่อทนายความจำเลยถามถึงการโอนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น.ส.โมรีรัตน์ เบิกความว่า ถ้าเป็นการโอนขายหุ้นระหว่างบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์ จะได้รับยกเว้นไม่มีภาระต้องชำระภาษี เมื่อทนายจำเลยถามย้ำว่า กรณีที่ นายบรรณพจน์ นำหุ้นโอนขายในตลาดหลักทรัพย์ไม่ถึงว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีใช่หรือไม่ น.ส.โมรีรัตน์ ตอบว่า ใช่ เมื่อถามว่าการวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นข้อกฎหมายในการชำระภาษีพยานได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ น.ส.โมรีรัตน์ เบิกความตอบปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายทุกคน ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีนี้แต่อย่างใด