ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการ มีมติเอกฉันท์ เลือก “วิรัช ลิ้มวิชัย” เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่หลังประชุมเครียดนานกว่า 3 ชั่วโมง ด้วยคะแนน 15 ต่อ 0
วันนี้ (3 ก.ย.) ภายหลังจากที่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อโยกย้ายผู้พิพากษา โดยมีวาระสำคัญแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ หลังจากที่ นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ผลการประชุมปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 15 ต่อ 0 เลือก นายวิรัช ลิ้มวิชัย รองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 เป็น ประธานศาลฎีกาคนใหม่ หลังใช้เวลาประชุมอย่างเคร่งเครียดกว่า 3 ชม.
ภายหลังนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงว่าที่ประชุม ก.ต.มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบแต่งตั้งให้นายวิรัช ลิ้มวิชัย รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2550 ต่อจากนายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. เนื่องจากนายวิรัช เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมและมีอาวุโสเป็นอันดับหนึ่ง
นายสราวุธ กล่าวถึงการพิจารณาออกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุราชการของตุลาการจาก 60 ปี เป็น 70 ปี ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ในมาตรา 306 ว่าการพิจารณากฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี อย่างไรก็ดีหากการพิจารณากฎหมายรัฐบาลเห็นชอบให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเสนอก็พร้อม ทั้งนี้หากร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้พิพากษาที่จะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณนั้นก็จะได้รับการต่ออายุราชการออกไปอีกคนละ 1 ปี เป็นขั้นบันไดใน 10 ปีแรก และก็จะทำให้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาต่อไปอีก 1 ปี โดยจะไปเกษียณอายุราชการอายุ 61 ปี
นอกจากนี้ที่ประชุมก.ต.ยังมีมติเห็นชอบบัญชีโยกย้ายสับเปลี่ยนศาล ตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสศาลชั้นต้นรวม 34 ตำแหน่งไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 และยังมีมติเห็นชอบบัญชีแต่งตั้งผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาอาวุโสใหม่ รวม 38 ตำแหน่ง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2550 เป็นต้นไป และนัดประชุมก.ต.ครั้งต่อไปในวันที่ 10 ก.ย.2550เวลา 09.30 น.เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อแต่งตั้งผู้พิพากษาในตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมก.ต.มีมติไม่อนุมัติให้นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ปัจจุบันไปช่วยราชการ เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ( คตส.) เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา แต่ที่ประชุมก.ต.มีมติเห็นชอบให้นายอุดม ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดตลิ่งชัน ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในระดับเดิม เนื่องจากเห็นว่านายอุดมทำหน้าที่เป็นคตส.ซึ่งขณะนี้ผลการพิจารณาตรวจสอบของคตส.เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายเรื่อง การที่นายอุดมจะไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาอาจเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและอาจถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามการดำรงตำแหน่งตุลาการมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเดียวไม่พอ จะต้องไม่ให้เป็นที่สงสัยด้วย จึงมีมติเห็นไม่สมควรให้นายอุดมไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเพื่อประโยชน์ของสถาบันศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับ นายอำนวย ธันธรา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งปัจจุบันช่วยราชการเป็นคตส.ที่ขอไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยก.ต.มีมติเห็นชอบให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้นายสราวุธ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนวินัยข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมกรณีการติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญ พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองว่า เนื่องจากคดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนซึ่งขณะนี้การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่มีนายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา มีความคืบหน้าไปบ้างแล้วโดยเชื่อว่าการสอบสวนของคณะกรรมการฯ จะสรุปผลได้ก่อนครบกำหนด 180 วัน
นายวิรัช ลิ้มวิชัยนั้น เกิดเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2490 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย โดยนายวิรัชได้เริ่มรับราชการสอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาเมื่อปี 2516 จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงและผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชและศาลจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นเมื่อปี 2526 จึงได้ขึ้นเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลภาษีอากรกลางและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาธนบุรี โดยนายวิรัชได้รับความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่จนได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายบริหารในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี เมื่อปี 2537และเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในปี 2539 จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลสูง ได้เป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อปี 2546 และประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกาจนกระทั่งได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานศาลฎีกาเมื่อปี 2548 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา นายวิรัชได้รับความไว้วางใจจากนายปัญญา ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนว่ามีข้าราชการพยายามเสนอสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในการพิพากษาคดียุบพรรคการเมือง โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นข้าราชการตุลาการนั้นนายวิรัชยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด รวม 4 อันดับ ประกอบด้วย ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก,ชั้นมหาวชิรมงกฎ ,ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกและเหรียญจักรพรรดิมาลา