xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ ฎีกา…คำสั่งปล่อยชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สืบเนื่องจากบทความเรื่อง ”บทบาทของศาลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลย” ที่กล่าวถึงการขอปล่อยชั่วคราวนั้นมีประเด็นปัญหาตามมาว่า หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะมีสิทธิประการใดอีกบ้าง เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะแก้ไขไม่ได้โดยเด็ดขาด กล่าวคือ ศาลไม่มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อ่านแล้วของตน แม้จะเป็นศาลสูงก็ตามก็ไม่มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่างโดยพลการ เว้นแต่จะมีผู้อุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา

อุทธรณ์ ฎีกา คืออะไร

อุทธรณ์ ฎีกา เป็นคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่าง กล่าวคือ การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์และการฎีกาก็คือคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ และจะเป็นอุทธรณ์หรือฎีกาตามกฎหมายก็ต่อเมื่อมีผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกายืนยันมาในอุทธรณ์หรือฎีกาว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่างไม่ถูกต้อง และขอให้มีการแก้ไขอุทธรณ์ ฎีกา นี้ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นเท่านั้นและเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจอุทธรณ์หรือฎีกาว่าควรจะรับหรือไม่ ส่วนผลจะออกมาประการใดนั้นเป็นดุลยพินิจของศาลนั้นๆที่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

สิทธิของผู้ร้องขอเมื่อมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

เมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ ผู้ร้องขอมีสิทธิดำเนินการได้ 2 ประการคือ

1.ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่

2.อุทธรณ์ หรือฎีกา คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี

อนึ่ง ตามหลักการแล้ว การอุทธรณ์ ฎีกา ต้องยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่สำหรับกรณีอุทธรณ์ ฎีกาคำสั่งปล่อยชั่วคราวนี้ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่าผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ฎีกาได้แม้จะเกินกำหนดเวลาหนึ่งเดือนแล้วก็ตาม ดังปรากฎในคำสั่งศาลฎีกาที่ 617/2528 ว่า “การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งปล่อยชั่วคราวไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ที่กำหนดว่า การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง”

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว...ควรทำอย่างไรต่อไป?

ผู้ร้องขอสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้โดยถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในชั้นสอบสวนหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในชั้นพิจารณาตามที่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ โดยให้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความหรือสำเนาความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์

เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว หากผู้ร้องขอเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ผู้ร้องขอสามารถยื่นฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ โดยให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความหรือสำเนาความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลฎีกา เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว

ผู้มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ได้แก่

1.ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี

2.ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง ที่ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์

3.ทนายความหรือบุคคลผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งระบุในหนังสือมอบอำนาจอย่างชัดเจนว่ามีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น...พิจารณาจากอะไรในการวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หากศาลพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ศาลอาจสั่งยกคำร้องเสียก็ได้ และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

ในทางกลับกัน หากศาลที่วินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอาจสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยต้องมีเหตุผลในการสั่งอนุญาตด้วยเพราะเป็นการกลับคำพิพากษาในศาลชั้นก่อน

สรุป

ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางศาลได้วางหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวไว้อย่างละเอียด ถี่ถ้วน รอบคอบ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิร้องขอสามารถยื่นอุทธรณ์ ฎีกา คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันเองในแต่ละชั้นศาล นอกจากนี้แม้ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว แต่เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น