ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรมขึ้นมากมาย ซึ่งการที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานมายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในแถบทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการนำเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆมาพัฒนาใช้ในการพิสูจน์หลักฐานต่างๆให้ได้ผลที่ถูกต้องแท้จริงตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อติดตามเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
นิติวิทยาศาสตร์ คืออะไร…?
นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขา มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในด้านกฎหมาย ทั้งประโยชน์ทางนิติบัญญัติในเรื่องการออกกฎหมาย และประโยชน์ของการคลี่คลายปัญหาและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีความเพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษ นิติวิทยาศาสตร์จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.นิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่น วิชาพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงการตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ 2.นิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม
นิติวิทยาศาสตร์สำคัญๆที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในงานสืบสวนสอบสวนนั้นมีอยู่มากมาย อาทิ การตรวจสถานที่เกิดเหตุและการถ่ายรูป, การตรวจลายนิ้วมือฝ่ามือฝ่าเท้า, การตรวจเอกสาร เช่น ตรวจลายเซ็น ลายมือเขียน, การตรวจทางฟิสิกส์ เช่น ตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนรถ, การตรวจทางนิติเวช เช่น งานนิติพยาธิ งานนิติวิทยา งานชีวเคมี และการตรวจทางชีววิทยา เช่น ตรวจเส้นผม เสือด อสุจิ และตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) เป็นต้น พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นมีน้ำหนักในการรับและเป็นที่ยอมรับในนานาอารยประเทศ
หลักฐานสำคัญทางนิติวิทยาศาสตร์
ถึงแม้ว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะมีอยู่มากมายหลายประเภท แต่การพิสูจน์ DNA นั้นได้รับความสนใจเป็นพิเศษสังเกตได้จากปัจจุบันเมื่อมีคดีข่มขืน คดีฆาตกรรม หรือคดีที่จำเป็นต้องพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ของเด็กเกิดขึ้น ประชาชนต่างให้ความสนใจและคาดหวังกับการตรวจพิสูจน์ DNA เป็นสำคัญ DNA เป็นสารพันธุกรรมของสิ่งที่มีชีวิต (มนุษย์ พืช สัตว์) ที่ลูกได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อหนึ่งส่วน และจากแม่อีกหนึ่งส่วน DNA มีอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดโลหิตแดง โลหิตขาว เซลล์ผิวหนัง เยื้อกระพุ้งแก้ม กระดูก หรือปลายรากเส้นผม เป็นต้น DNA จะเป็นตัวกำหนดข้อมูลในการสร้างสารชีวโมเลกุล ดังนั้น สิ่งมีชีวิตชั้นสูงและชั้นต่ำจึงมี DNA เป็นรหัส หรือแบบพิมพ์ในการสร้าง และมีจุด DNA เป็นรหัสเฉพาะตัว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สายพันธุ์ จึงไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่มีชุด DNA ที่เหมือนกันทั้งหมด ยกเว้น ฝาแฝดที่เกิดมาจากไข่ในเดียวกันเท่านั้น จากความจำเพาะที่มีอยู่ในชุด DNA แต่ละหน่วยนี้เอง เรียกว่าลายพิมพ์ DNA ในทางนิติวิทยาศาสตร์จึงได้นำมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์ เพื่อระบุยืนยันตัวบุคคลในทางคดีและยังใช้พิสูจน์ความสัมพันธ์ของพ่อ-แม่-ลูกได้
หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับกระบวนพิจารณาคดีอาญา
โดยทั่วไป กระบวนการพิจารณาคดีอาญามีข้อที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดอยู่สองประการ คือ ข้อกฎหมายประการหนึ่ง และข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง หลักในการวินิจฉัยนั้นจะต้องพิจารณาค้นคว้าหาข้อเท็จจริง หรือความสัตย์จริงในคดีว่าเป็นอย่างไรแล้วจึงยกข้อกฎหมายขึ้นปรับวินิจฉัยว่าจำเลยควรจะได้รับโทษหรือควรจะได้รับการปล่อยตัวไป ตามกฎหมายลักษณะพยานข้อเท็จนั้นที่ศาลจะรับรู้ได้เองนั้น จำกัดอยู่เพียงข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติซึ่งบุคคลธรรมดาจะพึงรู้ได้เองแล้ว ข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากความรู้ของคนธรรมดาสามัญศาลรับรู้เองไม่ได้ เพราะฉะนั้นฝ่ายผู้กล่าวหาจะต้องพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ศาลว่าผู้ต้องหาได้กระทำการที่อ้างว่าเป็นความผิดนั้นจริง
พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นด้วยการวิเคราะห์ หรือวิจัย ซึ่งในทางกฎหมาย ถือว่า พยานหลักฐานเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือจะนำเข้าสู่ความรู้ของศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ โดยกำหนดวิธีการนำสืบไว้ คือ หากคู่ความประสงค์จะอ้างหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เข้าสู่สำนวนเพื่อนำสืบข้อเท็จจริง ให้นำสืบโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้ทำการตรวจหรือว่าได้ตรวจ ได้วิเคราะห์หรือได้วิจัยสังเกตเหตุการณ์หรือสิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับในคดีนั้นมาแล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นี้ก็ คือพยานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายนั่นเอง
ที่ผ่านมา มีการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยคลี่คลายคดีต่างๆ ที่มีความสำคัญ และมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนทั้งที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วหลายคดี ในประเทศสหรัฐออเมริกา คดีที่มีการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยในการคลี่คลายคดี ได้แก่ คดีลอบสังหารประธานาธิบดีเคนนาดี้ พฤษจิกายน ค.ศ.1963, คดีโอ เจ ซิมป์สัน ฆาตกรรมภรรยาและเพื่อน มิถุนายน ค.ศ.1994 และคดีฆาตกรรมไร้ศพ เหตุเกิดที่รัฐฟลอริดา เป็นต้น สำหรับในประเทศอังกฤษคดีสำคัญที่มีการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยในการคลี่คลายคดี คือ คดีฆาตกรรมอำพรางที่ฟาร์มวิดเดนฮิลล์ หมู่บ้านฮอตัน ในปี ค.ศ.1984
ในประเทศไทยคดีที่สำคัญ และมีความสลับซับซ้อนซึ่งคลี่คลายลงได้โดยอาศัยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ได้แก่ คดีฆาตกรรม น.ส.ดอริส ฟอน ฮาเฟน นางแบบสาวชาวเดนมาร์ก เมื่อ 24 มกราคม พ.ศ. 2511, คดีฆาตกรรมนางสยามล พ.ศ. 2536, คดีฆาตกรรมนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ พ.ศ. 2539, คดีฆาตกรรม น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี นักศึกษาแพทย์ปี 5 พ.ศ. 2541 และคดีล่าสุดคดีที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน คือ คดีฆาตกรรมแพทย์หญิงผัสพร โดยศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตนายแพทย์วิสุทธิ์ คดีนี้ถึงแม้ว่าจะไม่พบศพของผู้เสียชีวิต แต่ผลการพิสูจน์ DNA ประกอบกับพยานแวดล้อมต่างๆ จึงเชื่อได้ว่า แพทย์หญิงผัสพร เสียชีวิตแล้ว
สรุป
ถือได้ว่านิติวิทยาศาสตร์เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ ผนวกเข้ากับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน พิสูจน์หลักฐาน และดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำความผิดทางอาญามาลงโทษ เพราะหากปราศจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ คดีสำคัญๆที่สลับซับซ้อนหลายคดีคงจะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ทำให้ส่งผลร้ายต่อสังคมเพราะมีโอกาสที่ผู้นั้นจะกระทำความผิดแบบเดิมซ้ำอีก นอกจากนั้น การนำเอาหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ ย่อมเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมด้วยอีกทางหนึ่ง
สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม