xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ รื้อทิ้งสร้างศาลฎีกาหลังใหม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“โฆษกศาลยุติธรรม” ชี้ ดีเดย์ย้ายศาลอาญากรุงเทพใต้ จากสนามหลวงไป ถ.เจริญกรุง 6 ส.ค.นี้ ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ก่อนทุบอาคารเก่าทิ้งสร้างศาลฎีกาหลังใหม่ พร้อมเผย สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.3 ฉบับ “กม.แรงงาน-ตั้งศาล จ.หัวหิน-คดียาเสพติด” ระบุ กฎหมายใหม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน-เพิ่มประสิทธิภาพวิธีพิจารณาคดี


วันนี้(12 ก.ค.50)ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าวการย้ายที่ทำการศาลอาญากรุงเทพใต้ ว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดที่ตั้งและวันเปิดทำการศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลอาญากรุงเทพใต้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้ย้ายที่ตั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ จากเขตพระนคร กทม. ไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 1721/1 ถ.เจริญกรุง 63 แขวงยานนาวา เขตสาทร กทม. 10210 หมายเลขโทรศัพท์ 02-210 9200 ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกับศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยจะเริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2550 นี้ และมีเขตอำนาจศาลครอบคลุม 7 เขตปกครอง คือ เขตสาธร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตบางคอแหลม เขตปทุมวัน และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยเมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้ย้ายออกไปแล้ว บริเวณดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ จะทำการรื้อทิ้งตัวอาคารเก่าทั้งหมด เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารศาลฎีกาหลังใหม่รวมทั้งอาคารสำนักงานศาลยุติธรรม โดยขณะนี้ได้มอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีรูปแบบของตัวอาคารให้สอดคล้องที่จะตั้งอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ โดยใช้งบประมาณกว่า 3.7 พันล้านบาท โดยใช้งบฯ ผูกพัน 6 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2551

นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงต่อว่า วานนี้ (11 ก.ค.50) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอแก้ไขรวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ....ซึ่งมีหลักการสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกและคุณสมบัติของผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานและปรับปรุงเขตอำนาจศาลแรงงาน เพราะที่ผ่านมากฎหมายแรงงานฉบับปี พ.ศ. 2522 ยังล้าหลัง โดยกำหนดให้ใช้ระบบเลือกตั้งผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง 1 คน ฝ่ายลูกจ้าง 1 คน โดยมีผู้พิพากษาศาลแรงงานเป็นประธาน 1 คน ซึ่งเรียกว่าระบบไตรภาคี แต่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบดังกล่าวมีข้อครหามาก เพราะผู้ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบอาจะเข้ามาโดยการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง หรือได้รับคัดเลือกมาโดยไม่มีความเป็นธรรม และบางคนก็เคยถูกศาลพิพากษาจำคุกมาแล้ว ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้เพิ่มมาตรฐานการคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบใหม่ ซึ่งกำหนดให้กระทรวงแรงงานคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบของคู่ความทั้งสองฝ่ายจำนวน 2 เท่า ก่อนส่งรายชื่อมาให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ก่อนส่งให้คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) พิจารณาคัดเลือกให้เหลือฝ่ายละ 1 คนต่อไป ซึ่งหากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

“ปัจจุบันมีคดีความขึ้นสู่ศาลแรงงานงานมากถึง 2,500 คดี และจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาแรงงานตามมา และจะมีคดีความด้านแรงงานเพิ่มขึ้นๆ อย่างเช่นล่าสุดบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์กีฬารายใหญ่ยี่ห้อไนกี้-อาดิดาส ได้ปิดกิจการลงและมีการลอยแพคนงานมากกว่า 5 พันคนจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ เบื้องต้นเจ้าของกิจการจะต้องเจรจาจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้ลูกจ้าง แต่หากตกลงกันไม่ได้ ลูกจ้างก็มีสิทธิ์นำคดีมาฟ้องศาลแรงงานได้ ซึ่งต้องแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบ 2 ฝ่าย ร่วมกับผู้พิพากษาศาลแรงานตัดสินคดี ซึ่งการแก้ไขกฎหมายแรงงานใหม่ย่อมมีประโยชน์ต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย” นายสราวุธ กล่าว

2. ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลจังหวัดหัวหิน ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกา มีเขตอำนาจศาลครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี และอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในท้องที่อำเภอดังกล่าว เพราะปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวหากมีความจำเป็นต้องขึ้นศาล จะต้องเดินทางเป็นระยะทาง 90 ก.ม. เพื่อไปยังศาลจังหวัดประจวบฯซึ่งไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร อีกทั้งพื้นที่อ.หัวหินยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังไกลกังวล สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญหลายแห่ง สำนักงานศาลยุติธรรมจึงพิจารณาให้จัดตั้งศาลจ.หัวหินขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ

และ3. ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.... ซึ่งสนช.มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยศาลยุติธรรมเล็งเห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ จึงได้มีการเสนอขอแก้ไข เพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ตั้งแต่ในชั้นสืบสวน สอบสวน และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกา และอายุความเพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดียาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น