xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ-พจมาน” รอดยาก! 9 ผู้พิพากษาตงฉินร่วมองค์คณะพิจารณาตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้ 9 ผู้พิพากษาองค์คณะพิจารณาตัดสินคดี “ทักษิณ-พจมาน” ทุจริตซื้อที่ดินแล้ว โดย นายสมศักดิ์ เนตรมัย, นายทองหล่อ โฉมงาม, นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย, นายสุรชาติ บุญศิริพันธ์, นายวสันต์ สร้อยพิศุทธ์, นายประพันธ์ ทรัพย์แสง, นายสมชาย พงษธา และนายพีระวัฒน์ ภัทรานวัช ได้รับเลือก

วันนี้(22 มิ.ย.)ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 9 คน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ภริยา เป็นจำเลยในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับไว้เป็นคดีดำหมายเลขที่ อม.1/2550 กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ

ทั้งนี้ การประชุมใหญ่เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 09.30 น.โดยใช้เวลาประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง จึงแล้วเสร็จ ภายหลังนายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แถลงผลการลงคะแนนเลือกองค์คณะผู้พิพากษาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า มีผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้าประชุมทั้งสิ้น 84 คน จากจำนวนทั้งหมด 87 คน โดยมีผู้พิพากษา 3 คนขอลาป่วย ซึ่งก่อนจะเริ่มการลงคะแนนเลือกองค์คณะ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 10 คน ขอถอนตัว ไม่ขอรับการคัดเลือกเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ประกอบด้วย

1.นายวิรัช ลิ้มวิชัย รองประธานศาลฎีกาคนที่สอง 2. ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่ง (ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดียุบพรรค) 3. นายกิติศักดิ์ กิตติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ในศาลฎีกา (ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยในคดียุบพรรค) 4. นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ในศาลฎีกา 5. นายชาลี ทัพภวิมล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ในศาลฎีกา 6. นายพินิจ บุญชัด ผู้พิพากษาศาลฎีกา 7. นายสถิต อรรถบลยุคล ผู้พิพากษาศาลฎีกา 8. นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาศาลฎีกา 9. นายพีรพล พิชยวัฒน์ ผู้พิพากษาศาลฏีกา และ 10. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา (ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยในคดียุบพรรค) โดยที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 10 ถอนตัวจากการคัดเลือกได้

สำหรับการลงคะแนนคัดเลือกองค์คณะดังกล่าว ที่ประชุมใช้วิธีการลงคะแนนลับ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 13 โดยผลการลงคะแนนมีผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 9 คน ได้รับเลือกเรียงตามลำดับอาวุโสและคะแนนประกอบด้วย

1.นายสมศักดิ์ เนตรมัย ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ได้ 72 คะแนน
2.นายทองหล่อ โฉมงาม รองประธานศาลฎีกาคนที่สาม ได้ 70 คะแนน
3.นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ในศาลฎีกา ได้ 70 คะแนน
4.นายสุรชาติ บุญศิริพันธ์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา ได้ 64 คะแนน
5.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ได้ 63 คะแนน (ผู้พิพากษาซึ่งเคยเป็นพยานจำเลยในคดีที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ถูกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากคดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยื่นฟ้องฐานเขียนบทความหมิ่นประมาท วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดในคดีดังกล่าว)
6.นายประพันธ์ ทรัพย์แสง ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้ 58 คะแนน (เคยเป็นองค์คณะผู้พิพากษาและเจ้าของสำนวนที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก 15 ปี นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณะสุข ความผิดเรียกรับสินบน 5 ล้านบาท จากบริษัทยา ในการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าของสำนวนคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องอดีต 9 กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชุดที่มีพล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธาน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง
7.นายสมชาย พงษธา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ได้ 56 คะแนน (ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดียุบพรรค)
8.นายพิชิต คำแฝง ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา ได้ 54 คะแนน
9.นายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ได้ 47 คะแนน

นายรักเกียรติ กล่าวต่อว่าหลังจากนี้ศาลฎีกาจะได้ติดประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาทั้งเก้า เป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้คู่ความทราบ และยื่นคำร้องคัดค้านตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 4 ซึ่งหากคู่ความประสงค์ที่จะยื่นคัดค้านรายชื่อองค์คณะก็สามารถยื่นเรื่องได้นับตั้งแต่วันประกาศจนกว่าศาลจะเริ่มนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ทั้งนี้สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้งเก้าจะนัดประชุมภายใน เพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและพิจารณาคำฟ้องของอัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่งว่าจะประทับรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ต่อไป โดยศาลฎีกาฯ กำหนดนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 10 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ นายกิติศักดิ์ และนายธานิศ ตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค ได้ขอถอนตัวออกจากการรับเลือกเป็นองค์คณะครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตที่ดินที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ โดยตรง แต่เกรงว่าหากไม่ขอถอนตัวแล้วได้รับคัดเลือก อาจเป็นเหตุให้ฝ่ายจำเลยรู้สึกเคลือบแคลงในการปฏิบัติหน้าที่ได้

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงการเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เพื่อแสดงตัวเป็นจำเลยต่อศาลว่า หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี ศาลจะออกหมายเรียกจำเลยแจ้งให้ทราบวันนัดพิจารณาครั้งแรก ซึ่งจำเลยจะต้องปรากฏตัวต่อศาลในนัดแรกตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2542 กำหนดไว้ แต่ถ้าจำเลยไม่มา ศาลก็ไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ ซึ่งศาลจะได้ใช้ดุลยพินิจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเพื่อรอตัวจำเลยมาศาล โดยคดีมีอายุความ 10 ปี แต่หากจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงไม่มาศาลก็ขึ้นกับดุลยพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งอย่างไร ซึ่งตามกฎหมายพิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดช่องให้สามารถออกหมายจับได้

เมื่อถามว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีการยกเว้นไม่ต้องมาศาลได้หรือไม่ เพราะหวั่นจะมีปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ นายสราวุธ กล่าวว่า ไม่สามารถยกเว้นได้ ต้องมาด้วยตัวเอง เพราะในชั้นนี้ไม่เหมือนกับกระบวนการสอบสวนในชั้นอื่นที่จะส่งตัวแทนมาได้

นายทองหล่อ โฉมงาม รองประธานศาลฎีกา
นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในศาลฎีกา
นายสุรชาติ บุญศิริพันธ์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในศาลฎีกา
นายวสันต์ สร้อยพิศุทธ์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลฎีกา
นายประพันธ์ ทรัพย์แสง ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกา
นายสมชาย พงษธา ประธานแผนกคดีล้มละลาย ในศาลฎีกา
นายพิชิต คำแฝง ประธานแผนกคดีแรงงาน ในศาลฎีกา

กำลังโหลดความคิดเห็น